‘เขาใหญ่’ รอดไปอีกปี คณะกรรมการมรดกโลกลงมติยังไม่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกที่ตกอยู่ในภาวะอันตราย
เช่นเดียวกับ ‘เกรท แบร์ริเออร์รีฟ’ แนวปะการังยาวสุดในโลกของออสเตรเลีย…
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. คณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ซึ่งร่วมประชุม
ครั้งที่ 38 ณ กรุงโดฮาประเทศการ์ตา มีมติไม่ขึ้นทะเบียนพื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น เขาใหญ่
เป็นมรดกโลกที่อยู่ในภาวะอันตราย หลังจากเห็นว่าทางการไทยได้ลงมือแก้ปัญหา
การลักลอบตัดไม้อย่างจริงจัง
ขณะเดียวกัน “เกรท แบร์ริเออร์ รีฟ’ แนวปะการังที่ยาวที่สุดในโลก ของออสเตรเลีย ก็เป็นมรดกโลก
อีกแห่ง ที่รอดจากการขึ้นทะเบียน เป็นมรดกโลกที่อยู่ในภาวะอันตราย โดยคณะกรรมการมรดกโลก
จะให้เวลาทางการออสเตรเลียอีก 1 ปี สำหรับการพิสูจน์ให้เห็นว่าทุ่มเททำงานอย่างเพียงพอที่
จะคุ้มครองปกป้องแนวปะการัง ซึ่งได้รับความเสียหายอย่างหนักจากน้ำมือมนุษย์ ขณะที่
คณะกรรมการมรดกโลกยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับแผนการพัฒนาชายฝั่งทะเล รวมถึงโครงการ
สร้างท่าเรือแห่งใหม่ และโรงงานก๊าซธรรมชาติเหลวในบริเวณชายฝั่ง
ทั้งนี้ ประธานในที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก กล่าวถึงสาเหตุที่ต้องพิจารณากลุ่มป่าดงพญาเย็น-
เขาใหญ่ตกอาจตกอยู่ในภาวะอันตราย เนื่่่องจากที่ผ่านมา ได้มีการลักลอบตัดไม้พะยูงเป็นจำนวนมาก
ในพื้นที่ นอกจากนั้น จากการสำรวจยังพบว่า ระบบนิเวศของป่าดงพญาเย็นได้ถูกรุกล้ำและมี
การเปลี่ยนแปลง โดยคณะกรรมการมรดกโลกยังตั้งคำถามเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดตามมาจาก
โครงการก่อสร้างเขื่อนห้วยสโมง ที่เสนอโดยกรมชลประทานของไทย เพราะจะต้องสูญเสียพื้นที่
ป่าไม้กว่า 4,000 ไร่ สำหรับการเก็บกักน้ำปริมาณถึง 22 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่กรมชลประทาน
ของไทยชี้แจงเหตุผล ว่าเขื่อนห้วยสโมงจะช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการมรดกโลก มีมติให้ขึ้นทะเบียนป่าดงพญาเย็น เขาใหญ่ เป็นมรดกโลก
ที่ถูกคุกคาม และออกคำสั่งให้ทางการไทยส่งแผนการการแก้ไขและรับมือกับภัยอันตราย
ที่คุกคามระบบนิเวศในบริเวณมรดกโลกเขาใหญ่ ภายใน 15 ก.ย. ปีหน้า
สำหรับ การประชุมของคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 38 ณ กรุงโดฮาประเทศการ์ตา เริ่มขึ้นตั้งแต่
วันอาทิตย์ที่ผ่านมา (15 มิ.ย.) โดยมีคณะกรรมการจาก 21 ประเทศ และตัวแทนจากประเทศเจ้าของ
มรดกโลกเข้าร่วมการประชุม สำหรับประเทศไทย มี นายอภิชาติ ชินวรรณโณ เอกอัครราชทูตไทย
ประจำกรุงปารีส ในฐานะผู้แทนถาวรไทยประจำยูเนสโก และ นายนิพนธ์ โชติบาล รักษาการอธิบดี
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนที่เข้าร่วมการประชุม.