บทความพิเศษเกี่ยวกับการศึกษา โดย ดร.กมล รอดคล้าย ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ในการจัดการศึกษา อาจเเบ่งผู้เรียนออกได้เป็น 3 กลุ่มหลักคือ กลุ่มที่มีความสามารถพิเศษ กลุ่มปกติหรือกลุ่มทั่วไป และกลุ่มเด็กพิการหรือด้อยโอกาส กลุ่มที่มีความสามารถพิเศษจะมีลักษณะที่หลากหลายและแตกต่างกันออกไปซึ่งโดยพื้นฐานมักจะหมายถึงผู้มีความสามารถพิเศษทางวิชาการ เช่น ด้านวิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์ ภาษา สังคมศึกษา เทคโนโลยี เป็นต้น
อย่างไรก็ตามความสามารถพิเศษของเด็กยังหมายถึงความสามารถด้านอื่นๆอีกด้วยอย่างน้อย 9 ด้าน ตามทฤษฎีพหุปัญญา ( Multiple Intelligence) ของ โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Gardner) ที่ได้เสนอแนวคิดไว้ว่า คนแต่ละคนมักมีความสามารถอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมอยู่ในตัวคนเดียว อาทิ ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ ตรรกศาสตร์ ภาษา ดนตรี การเคลื่อนไหว มิติสัมพันธ์ มนุษยสัมพันธ์ ความเข้าใจตนเอง และอื่นๆ
วิธีการพัฒนาเด็กที่มีความสามารถพิเศษ โดยเฉพาะความสามารถด้านวิชาการ ในโรงเรียนของรัฐได้มีการจัดตั้งโรงเรียนสำหรับผู้มีความสามารถเฉพาะทางเช่น โรงเรียนวิทยาศาสตร์ (มหิดลวิทยานุสรณ์ นครปฐม-รร.จุฬาภรณ์ ทั่วประเทศ),โรงเรียนดนตรี (มัธยมสังคีต ปทุมธานี),โรงเรียนศิลปะ (ศรีสงครามวิทยา เลย),โรงเรียนกีฬาต่างๆ เป็นต้น รวมถึงยังมีการจัดห้องเรียนพิเศษในสถานศึกษา เช่น EP,MEP ห้อง Gifted ห้องอัจฉริยะ ต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้สามารถพัฒนาผู้เรียนได้อย่างเต็มศักยภาพ
ในส่วนของเอกชน มีการจัดตั้งโรงเรียนกำเนิดวิทย์ขึ้นที่จังหวัดระยอง เพื่อดูแลเด็กที่มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์เป็นการเฉพาะ และโรงเรียนเอกชนขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมก็ได้มีการจัดทำหลักสูตรเสริมศักยภาพให้กับเด็ก คล้ายคลึงกับโรงเรียนของรัฐ ซึ่งโดยภาพรวมจะเห็นได้ว่าเรามีการดูแลจัดการในเรื่องนี้อยู่แล้วอย่างเป็นระบบแต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือไม่สามารถเปิดโอกาส ให้ผู้มีความสามารถพิเศษเหล่านี้ เข้าศึกษาได้อย่างครบถ้วนหรือมีที่นั่งเพียงพอสำหรับผู้ต้องการเข้าเรียน
แนวคิดในการพัฒนาจึงเริ่มขยายผลไปสู่การจัดทำค่ายวิทยาศาสตร์หรือค่าย Pre Olympics วิชาการ เพื่อคัดเลือกเด็กมาเข้าค่ายรับการอบรมพัฒนาแบบเข้ม เมื่อผ่านการประเมินในระดับดีเยี่ยมก็มีโอกาสได้รับคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น หรือศึกษาต่อในต่างประเทศได้
อย่างไรก็ตามพบว่าโอกาสเช่นนี้ ในอดีตเน้นไปที่โรงเรียนของรัฐเป็นส่วนใหญ่ การสร้างโอกาสให้กับเยาวชน จำต้องขยายไปยังโรงเรียนกลุ่มอื่นๆด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มโรงเรียนเอกชน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) รวมทั้งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์) ที่กำกับดูแล ได้รับฟังความคิดเห็น ข้อเรียกร้องจากทุกพื้นที่ ในการออกไปพบปะกับผู้บริหาร ครู และนักเรียนโรงเรียนเอกชน ซึ่งร้องขอให้มีการพัฒนาเด็กโรงเรียนเอกชนในรูปแบบของค่ายพรีโอลิมปิกวิชาการ เช่นเดียวกับในโรงเรียนรัฐ ซึ่งสช.ก็ได้สนองตอบความต้องการนี้อย่างจริงจัง โดยพัฒนาโครงการค่ายพรีโอลิมปิกวิชาการขึ้น ทั้งนี้ในเบื้องต้น ดำเนินการในพื้นที่จังหวัดชายเเดนภาคใต้ก่อน โดยอาศัยโครงการเดิมที่ดำเนินการต่อเนื่องมาแล้ว 3 ปี และจะเริ่มขยายผล ปีการศึกษานี้เป็นปีที่ 4
แนวทางการดำเนินงาน คือ มีการประสานกับสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี,มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา และ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ให้รับผิดชอบจัดค่ายพรีโอลิมปิกวิชาการ โดยรับสมัครนักเรียนเพื่อคัดเลือกเข้าค่ายอบรมตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-5 แบ่งเป็นวิชาคณิตศาสตร์ (ม.1-5) วิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา (ม.4 และ ม.5 ) จากนั้นจัดกิจกรรมค่ายที่ 1 ใช้เวลา 10 วัน เด็กๆเข้าอบรมวิชาละ 40 คนรวมศูนย์ละ 160 คนรวมทั้งสิ้น 3 ศูนย์ 480 คน จากนั้นสอบคัดเลือกนักเรียนจากค่ายที่ 1 ให้เหลือวิชาละ 10 คน สี่วิชารวมศูนย์ละ 40 คนรวมทั้งสิ้นทั้ง สามศูนย์ 120 คน
วัตถุประสงค์สำคัญของการจัดค่าย คือมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพ อัจฉริยภาพ ทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ปลูกฝังทัศนคติ สร้างแรงบันดาลใจในการรักการเรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ให้กับนักเรียน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อนที่ในอนาคตจะขยายผลไปยังนักเรียนจังหวัดอื่นๆทั่วประเทศต่อไป
กิจกรรมค่ายพรีโอลิมปิกวิชาการ เริ่มรับสมัครแล้วตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์-21 มีนาคม 2565 และจะสอบคัดเลือกในวันที่ 2 เมษายน 2565 ก่อนจะประกาศผลในวันที่ 12 เมษายน 2565 ซึ่งกิจกรรมค่ายอบรมค่ายที่หนึ่งจะเริ่มระหว่างเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม 2565 และค่ายที่สอง ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม 2565
ค่ายพรีโอลิมปิกวิชาการ จะเป็นค่ายที่มุ่งเน้นการดูแลนักเรียนให้เข้าไปใช้ชีวิตในค่ายวิชาการอย่างปลอดภัย ภายใต้มาตรการป้องกัน COVID-19 อย่างเคร่งครัด มีการอบรมทางวิชาการ วิชา คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา โดยอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมหาวิทยาลัยทั้งสามเเห่งจะได้คัดสรรมาเพื่อให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชน มีกระบวนการสอบ Pre-testและ Post-test เพื่อคัดเลือกนักเรียนเข้าอบรมต่อในค่ายต่อไป
ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าค่ายอบรมค่ายที่หนึ่งและค่ายที่สองไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย โดยโครงการจะรับผิดชอบค่าอาหาร ค่าที่พัก และค่าเอกสารประกอบการอบรม ในขณะเดียวกันสิ่งที่หวังว่าจะเกิดขึ้นก็คือนักเรียนที่ผ่านการเข้าค่ายพรีโอลิมปิกวิชาการ ค่ายที่หนึ่งและค่ายที่สอง ที่ได้รับการประเมินผ่านเกณฑ์ จะได้รับประกาศนียบัตร และผู้ที่สอบได้คะแนนระดับ เหรียญทอง เหรียญเงิน เหรียญทองแดง ของแต่ละวิชาในการอบรมค่ายที่สอง จะได้รับประกาศนียบัตร รางวัลและเงินรางวัล นอกจากนั้นผู้ที่ผ่านการอบรมค่ายที่สอง มีสิทธิ์ได้รับการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในบางคณะและบางสาขาวิชาของมหาวิทยาลัยในพื้นที่เป็นกรณีพิเศษ
กิจกรรมค่ายโอลิมปิกวิชาการเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมอย่างสูงยิ่งทั้งในและต่างประเทศ ในระดับนานาชาติมีการคัดเลือกเด็กและเยาวชน จากค่ายโอลิมปิกวิชาการของประเทศต่างๆเพื่อเข้าร่วมแข่งขันในระดับภูมิภาค ระดับทวีป และระดับโลกในขณะเดียวกันสำหรับในประเทศไทยการจัดค่ายพรีโอลิมปิกวิชาการ ถือเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กที่ไม่ได้ศึกษาอยู่ในโรงเรียนเฉพาะทาง ได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วม ในการแข่งขัน โดยก่อนเข้าแข่งขันจะต้องเข้ารับการอบรมและพัฒนาในค่ายวิชาการต่างๆ ซึ่งในส่วนนี้ถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับเด็กและเยาวชน แม้ผลการเเข่งขันอาจจะไม่ประสบความสำเร็จถึงขั้นที่รับรางวัลสูงสุด แต่คะแนนที่ได้รับ หรือมาตรฐานที่ผ่านการประเมิน สามารถทำให้เด็กได้รับการคัดเลือกแบบสายตรงจากมหาวิทยาลัยเฉพาะทาง หรือมหาวิทยาลัยชั้นนำเข้าศึกษา เด็กบางคนอาจได้รับทุนการศึกษาต่อในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสให้กับเด็กและเยาวชนอย่างแท้จริง
หวังว่าโครงการในลักษณะนี้จะได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง มีการพัฒนาระบบการจัดการ ให้เอื้อต่อเด็กและเยาวชนที่ขาดโอกาส ยากจน หรืออยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร ห่างไกล ด้วยความหวังว่าเราจะได้ร่วมกันสร้างเด็กและเยาวชนคุณภาพให้เกิดขึ้นในประเทศต่อไปในอนาคต
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน