ปัจจุบันถือได้ว่าการใช้เทคโนโลยีและการสื่อสาร มีส่วนสำคัญกับวิถีชีวิตของมนุษย์ สามารถเข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็วไร้ขีดจำกัด การใช้เทคโนโลยีแทรกอยู่ในทุกมิติ ทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรม ในรูปแบบต่างๆ ส่งผลด้านความมั่นคงของรัฐมีความซับซ้อนมากขึ้น การแก้ปัญหาดังกล่าวเป็นไปได้ยาก ซึ่งในขณะนี้ภัยไซเบอร์ระบาดอย่างกว้างขวาง และจากสถิติการเกิดปัญหาทางเทคโนโลยี พบว่าคนไทยถูกหลอกลวงมากที่สุด ได้แก่ มิจฉาชีพบน Social Media โดยรูปแบบสำคัญของการหลอกลวงของแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือวงการต้มตุ๋น คือ การใช้โทรศัพท์หลอกทำให้เหยื่อตกใจหวาดกลัว และพูดจากหว่านล้อมให้เหยื่อโอนเงินจากบัญชีธนาคารไปให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ดังกล่าว ซึ่งกลวิธีที่จะทำให้เหยื่อตกใจและหวาดกลัวนั้น มีการเปลี่ยนแปลงตลอด และสร้างความน่าเชื่อถือให้กับตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการอ้างเป็นตำรวจ เป็นเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ (DSI) หรืออ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่น พร้อมทั้งสร้างพยานหลักฐานปลอมเอกสารทางราชการต่างๆ ส่งให้เหยื่อทางไลน์ (LINE) ทำให้ดูน่าเชื่อถือ
จากปัญหาดังกล่าว พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญและมีความห่วงใยประชาชน จึงได้กำชับให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่ประชาชน จึงได้เน้นย้ำให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ขณะเดียวกันยังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มการสร้างการรับรู้จัดทำชุดความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เพื่อให้ประชาชนเกิดการรับรู้ ไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
ซึ่งนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้มีข้อสั่งการมอบหมายให้ผู้อำนวยการกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นประธานคณะทำงานโครงการรณรงค์และเผยแพร่ข้อมูลในการป้องกันภัยคุกคามจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ให้กับประชาชน และให้กระทรวงยุติธรรมสนับสนุนงบประมาณ
เนื่องจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์เป็นก่อการร้ายข้ามชาติ การติดตามจับกุมใช้ระยะเวลามาก ไม่ทันกับจำนวนผู้เสียหายที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ทำให้ไม่สามารถดำเนินการปราบปรามได้ทัน จนอาจกล่าวได้ว่าการจัดการกับปัญหา แก๊งคอลเซ็นเตอร์นี้ไม่สามารถดำเนินการได้ด้วยการปราบปรามเพียงวิธีเดียว ดังพระบรมราโชวาทของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 “การจับผู้ร้ายนั้นไม่ถือเป็นความชอบ เป็นแต่นับว่าผู้นั้นได้กระทำการครบถ้วนแก่หน้าที่เท่านั้นแต่จะถือเป็นความชอบต่อเมื่อได้ปกครองป้องกันเหตุร้ายให้ชีวิตและทรัพย์สมบัติของข้าแผ่นดินในท้องที่นั้นอยู่เย็นเป็นสุขพอสมควร”
ดังนั้น การแก้ปัญหาที่ตรงจุดและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด คือ การสร้างความตระหนักรู้
ถึงภัยคุกคามนี้ แก่ประชาชนทั่วไป ถือว่าเป็นการ “ป้องกันไม่ให้เกิด ดีกว่าการตามแก้ปัญหา” ซึ่งมีความจำเป็นที่ภาครัฐจะต้องมีการสร้างให้ประชาชนมีความตระหนักรู้ถึงภัยคุกคามดังกล่าว
อยู่ตลอดเวลา “ให้ติดหู ติดตา ว่ามันเป็นการหลอกลวง” เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงภัยคุกคามของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และป้องกันไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ
โดย นางสาวรัศมี สีตลวรางค์ ผู้อำนวยการกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะประธานคณะทำงานโครงการรณรงค์เผยแพร่ข้อมูลฯ มีแนวคิดในการใช้เพลงเป็นสื่อในการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน จึงได้แต่งเพลง “อย่าโอน” ที่มีเนื้อเพลงจดจำได้ง่าย ติดหู ไว้ใช้เตือนสติ เตือนใจ เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชน เมื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรฯ มาให้ ตั้งสติ อย่าตกใจ ไม่ว่าจะถูกข่มขู่อย่างไร ก็..อย่าโอนเงินให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์เด็ดขาด
อย่าโอน-กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) x อี๊ด โปงลางสะออน x ลำไย ไหทองคำ
สุรเชษฐ ศิลานนทฺ์ รายงาน