เมื่อเร็วๆนี้ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสื่อสร้างสรรค์ร่วมกับสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ มีการพูดคุยเรื่อง ภาวะ Long Covid อันตรายจริงหรือไม่ ในรายการ Covid Forum ที่นี่มีคำตอบ โดยมี ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,นพ.ฆนัท ครุฑกูล นายกสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ และ พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสาธารณสุขและหัวหน้ากลุ่มฉุกเฉินทางการแพทย์ร่วมพูดคุยในรายการ ดังกล่าว
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ฯ กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือที่เรารู้จักกันดีว่า โควิด-19 โดยเฉพาะ สายพันธุ์โอไมครอน ที่กำลังแพร่ระบาดทั่วโลก ณ ขณะนี้ ทำให้ผู้คนเป็นจำนวนมากมีความกังวลใจว่าจะมีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์อื่นที่มีมาก่อนหน้านี้แล้วหรือไม่ และยิ่งนานวัน เมื่อเกิดมีภาวะ Long Covid ให้เป็นที่ตระหนกกันมากขึ้นไปอีก ยิ่งทำให้ประชาชนโดยทั่วไปหวั่นวิตกบางคนถึงขนาดที่ต้องเรียกว่า จิตตกกันนั่นเอง และต่างก็พากันหาข้อมูลจากแหล่งข่าวต่างๆ ซึ่งอาจจะเป็นข้อมูลที่มีความจริงเป็นบางส่วน ข้อมูลที่เป็นเท็จก็มี เป็นบางส่วน ประชาชนเกิดความสับสนและไม่รู้ว่าข้อมูลใดจริง ข้อมูลใดเท็จ
ทั้งนี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ฯ กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มแรกของการระบาดของโควิด-19 ผู้ที่ติดเชื้อจะมีการเข้ารับการรักษาแบบม้วนเดียวจบ คือการเข้ารับการรักษาจากโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลจนอาการติดเชื้อหายขาด และกลับไปพักที่บ้าน โดยการปฏิบัติตัวตามมาตรการเคร่งครัด และเมื่อร่างกายแข็งแรงดีแล้ว จึงออกมาทำงานประกอบอาชีพได้ แต่ก็ยังต้องมีการปฏิบัติตามมาตรการของการอยู่ร่วมกันในสังคม
ทางด้าน นายแพทย์ฆนัท ครุฑกูลฯ ได้กล่าวว่า “สำหรับ ภาวะ Long Covid สามารถเกิดขึ้นในผู้ติดเชื้อที่เข้ารับการรักษาสุขภาพร่างกายจนแข็งแรงดีแล้ว และในช่วงระยะเวลา 3-6 เดือน ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อของการตรวจหาเชื้อไม่พบแล้ว โดยจะมีอาการต่างๆ เช่น ปวดหัว มึนงง แสบตา คันตา น้ำตาไหล คัดจมูก จมูกไม่ได้กลิ่น มีอาการไอ หอบเหนื่อย หายใจไม่ทัน อาการเหล่านี้ จะเป็นๆ หายๆ และจะมีอาการอื่นๆ ที่รุนแรงขึ้นในช่วงระยะเวลา 8-9 เดือน เช่น หลงลืม ผมร่วง แขนขาอ่อนแรง ความจำสั้น ความดันโลหิตสูง การรับรสชาติอาหารเปลี่ยนไป หรือพบอาการชาที่ลิ้นในบางราย และจะมีอาการผิดปกติทางด้านอารมณ์เกิดขึ้น เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า นอนไม่หลับ จิตใจไม่แจ่มใส ซึ่งอาการเหล่านี้ ผู้ติดเชื้อที่เข้ารับการรักษาแล้วต้องคอยสังเกตุอาการด้วยตนเอง และเมื่อพบอาการผิดปกติดังกล่าว ควรรีบเข้ารับการรักษาโดยทันที”
ในขณะเดียวกัน แพทย์หญิงนฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ ได้กล่าวในช่วงท้ายของการพูดคุยว่า อาการลองโควิด เป็นผลจากความผิดปกติภายในร่างกาย เนื่องจากร่างกายยังฟื้นฟูไม่เต็มที่ ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิดจึงควรให้ความสำคัญกับการสังเกตอาการตนเอง พบแพทย์เพื่อประเมินสภาพร่างกาย และวางแผนการฟื้นฟูที่ถูกต้อง เนื่องจากอาการดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้ระยะยาวและส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันอย่างรุนแรง รวมถึงปล่อยนานเกินไป อาจเป็นอันตรายได้ และจากผลการติดตามผู้ป่วยโควิด-19 ในเมืองเลสเตอร์ จำนวนกว่า 1,000 ราย พบว่า ผู้ป่วยหญิงอายุ 40-60 ปี ที่มีโรคประจำตัว อย่างโรคหัวใจและหลอดเลือด,โรคหอบหืด และโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มีโอกาสเกิดภาวะลองโควิดจะเพิ่มสูงขึ้น ในกรณี้นี้ King’s College London เปิดเผยงานวิจัยว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิดครบ นอกจากจะช่วยลดโอกาสติดเชื้อและความรุนแรงของโรค อีกทั้งยังลดโอกาสเกิดภาวะลองโควิดได้เกือบ 50% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน และผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet Infectious Diseases พบว่า ในกรณีที่ไม่น่าจะติดเชื้อโควิด-19 หลังจากฉีดวัคซีนซ้ำ 2 ครั้ง ความเสี่ยงของการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระยะยาวลดลงเกือบครึ่ง
นอกจากนี้ยังมีการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลน้อยลง (มีโอกาสน้อยกว่า 73%) และมีอาการเฉียบพลันลดลง (31%) ในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนครบถ้วน ดังนั้นการดูแลตนเองที่ดีที่สุด คือหากพบว่ามีอาการผิดปกติใดๆ เกิดขึ้นต่อร่างกาย ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะลองโควิดได้ต่อไป
สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน