บ้านกลอเซโล หมู่ 6 ตั้งอยู่ที่ตำบลแม่สามแลบ อำเภอเสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าสาละวิน อุทยานแห่งชาติสาละวิน เป็นอีกชุมชนหนึ่งในพื้นที่สูงที่อยู่ในพื้นที่ดูแลของโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สามแลบ ด้วยแผนกลยุทธ์หยุดหมอกควันหรือระบบเกษตรที่เลี้ยงดูป่า โดยการทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในแนวทางของการนำองค์ความรู้จากโครงการหลวงมาปรับใช้ในพื้นที่สูง ห่างไกลบริการของภาครัฐในทุกมิติ ทั้งรายได้ สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรป่าไม้ มุ่งเน้นการบูรณาการอย่างสมดุล ให้คนในพื้นที่มีปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพ ซึ่งมีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชน
นายเดชธพล กล่อมจอหอ หัวหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง กลุ่ม 4 สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. กล่าวว่า แนวทางของการพัฒนาบ้านกลอเซโล ทางสวพส.มุ่งเน้นให้ชุมชนตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีแผนการอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ทำการเกษตร ลดพื้นที่ทำไร่หมุนเวียน โดยกำหนดเขตการพัฒนาเป็นโซน A, B, C และ D เพื่อสร้างต้นแบบและขยายการพัฒนาไปสู่แต่ละโซน จนกระจายการพัฒนาให้ครอบคลุมทั้งชุมชน เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ในแนวทางของการนำองค์ความรู้โครงการหลวงมาปรับใช้ในการทำการเกษตรแบบไม่เผาในลักษณะของการจัดพื้นที่รายแปลงที่เหมาะสม ใช้พื้นที่น้อย มีรายได้มาก โดยการปลูกพืชผักภายใต้ระบบมาตรฐาน GAP เพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพและมีราคาสูง ช่วยเกษตรกรในชุมชนสามารถขายพืชผักได้ตลอดทั้งปี นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมปลูกไม้ผลและกาแฟใต้ร่มเงาในพื้นที่ป่า เช่น การปลูกกาแฟอาราบิก้าอินทรีย์ ไม้ผล และบุก ด้วยระบบเกษตรที่เลี้ยงดูป่าและสร้างคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ เมื่อชุมชนบนพื้นที่สูงมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้นพอมีพอกินตามหลักปรัชญาเศรฐกิจพอเพียงก็มีเวลาที่จะดูแลป่าไม้ที่อยู่รอบชุมชน มีการปลูกป่า เป็นต้น
การทำงานเชิงกลยุทธ์มีส่วนทำให้จุด Hotspot ในพื้นที่ของโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สามแลบมีจำนวนน้อยมากและบางพื้นที่ไม่มีจุดความร้อนเกิดขึ้นเลย สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชน และอีกตัวอย่างที่ทำให้บ้านกลอเซโล ประสบความสำเร็จ คือ พัฒนาชุมชนในรูปแบบกลุ่มสถาบันเกษตรกร พร้อมทั้งติดตามประเมินผล ทำให้การดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมาย โดยเฉพาะทำให้มีอำนาจในการต่อรองการรับซื้อสินค้าจากชุมชน และในชุมชนยังมีเกษตรกรผู้นำตัวอย่างในการขยายงานกระจายการพัฒนาให้ครอบคลุมทั้งชุมชนอีกด้วย
ด้านนายพัลลภ ปัญญา หัวหน้าศูนย์โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สามแลบ กล่าวว่า ปัจจัยความสำเร็จของโครงการก็คือการยึดคนเป็นศูนย์กลาง และการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ โดยเล็งเห็นและให้ความสำคัญกับคนในชุมชน เพราะมีบทบาทสำคัญในการร่วมคิดและวางแผน เพื่อค้นหาปัญหาและความต้องการของคนในชุมชน แม้จะมีความยากลำบากในการสื่อสารและภาษา โดยได้มีการจัดเวทีชุมชนเพื่อประชาพิจารณ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำหนดขอบเขตการใช้ประโยชน์ที่ดิน ควบคุมไม่ให้เกิดการบุกรุกทำลายป่า ใช้พื้นที่ให้ถูกต้องเหมาะสมตามหลักวิชาการ และขออนุญาตดำเนินงานในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยมีกรมป่าไม้เป็นผู้รับผิดชอบพื้นที่ ดำเนินกิจกรรมตามแผนของโครงการฯ เพื่อพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ และหน่วยงานบูรณาการทุกภาคส่วนอย่างเป็นระบบและครบวงจร
นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ส่วนกลางฝ่ายวิชาการรายสาขาเป็นผู้สนับสนุนการดำเนินงาน ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้พื้นที่บ้านกลอเซโลมีการพัฒนาเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม มีเกษตรกรผู้นำตัวอย่าง ที่ยึดระบบเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สำหรับไม้ผลที่นิยมปลูกในพื้นที่ได้แก่ กาแฟอาราบิก้าอินทรีย์ บุก เสาวรส และอะโวคาโดภายใต้ระบบมาตรฐาน GAP อีกทั้งยังมีการพัฒนาพืชเสริมอื่น ๆ เช่น หมาก ซึ่งเป็นพืชที่ปลูกทั่วใปในพื้นที่ เพราะชาวบ้านยังนิยมบริโภคหมาก แต่กาปหมากที่แห้งจะถูกทิ้งไว้หรือไม่ชาวบ้านก็นำไปเผาโดยเปล่าประโยชน์ และจากการศึกษาดูงานในพื้นที่อื่น ทำให้มองเห็นโอกาส ในการนำกาปหมากไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ภาชนะใส่อาหารที่ใช้กับผู้ป่วยในโรงพยาบาล ลักษณะใช้แล้วทิ้ง ซึ่งนอกจากทำให้เกษตรกรมีรายได้เสริมแล้ว ยังมีส่วนทำให้การเผาป่าลดลง เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับป่า และยังสามารถปลูกต้นหมากเพิ่มได้ทุกปี