สมาคมผู้สื่อข่าวต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านในพื้นที่กรอกสมบูรณ์ ตำบลลาดตะเคียน อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี จึงได้ประสานนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และรายการ “คอลัมน์หมายเลข 7” สถานีโทรทัศน์ช่อง 7 ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ปรากฏว่ามีรถบรรทุกกากอุตสาหกรรม จากกลุ่มบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย วิ่งเข้า-ออกในพื้นที่แต่ละวันหลายสิบเที่ยว ซึ่งพื้นที่แห่งนี้มีโรงงานรับกำจัดกากอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นอันตรายอยู่บริเวณดังกล่าว
นายพลศักดิ์ สุพร เลขาธิการสมาคมผู้สื่อข่าวต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านในพื้นที่กรอกสมบูรณ์ว่า ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีรถขนถ่ายขยะจำนวนมากนำขยะมาทิ้งวันละหลายเที่ยว ส่งผลให้เกิดมลพิษในพื้นที่ โดยเฉพาะกลิ่นเหม็น และสารพิษที่ไหลลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ
“จากการลงพื้นที่พบว่า มีรถบรรทุก มีกระบะสีเขียวจากพื้นที่สระบุรี และสีเทาจากพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ และรถบรรทุกน้ำจากพื้นที่ชลบุรี นำขยะมาทิ้งในพื้นที่แห่งนี้ โดยทีมงานได้เฝ้าเกาะติดพื้นที่มาก่อนหน้านี้แล้วเป็นเวลากว่า 1 เดือน สามารถบันทึกคลิปวิดีโอ เส้นทางที่รถบรรทุก นำขยะมาทิ้งภายในบริเวณโรงงานฝังกลบขยะไม่อันตรายแห่งนี้ ซึ่งทีมงานไม่แน่ใจว่าขยะดังกล่าวเป็นขยะอันตรายหรือไม่ โรงงานแห่งนี้สามารถรับขยะทั้งหมดได้หรือไม่ หรือมีการว่าจ้างให้ขนส่งมาในพื้นที่นี้หรือไม่ แต่มีข้อที่น่าสังเกต กล่าวคือรถบรรทุกที่มีกระบะสีเขียวจากพื้นที่สระบุรี และสีเทาจากพื้นที่สมุทรปราการ มีสถานที่กำจัดเป็นของตนเอง และเป็นสถานที่ที่ได้รับสัมปทานจากภาครัฐในการกำจัดกากฯ ซึ่งเป็นทรัพย์สินของทางราชการวิ่งออกนอกเส้นทางนำขยะมาทิ้งที่จังหวัดปราจีนบุรีได้อย่างไร”
โดยก่อนหน้านี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้กวดขันอย่างเข้มงวด มีการสั่งปิดโรงงานกำจัดขยะในพื้นที่จังหวัดชลบุรี เนื่องจากกำจัดขยะผิดประเภท ดังนั้นในกรณีนี้ ก็ควรลงมาตรวจสอบว่า ในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี มีการนำขยะมาทิ้งผิดประเภทหรือไม่อย่างไร ทั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งกันตรวจสอบว่า กากฯเหล่านี้มีฝบกำกับชนส่งมาจากที่ใด มีการลักลอบขนจากพื้นที่โรงงานไมด้า วัน จังหวัดฉะเชิงเทรา หรือไม่อย่างไร
ด้าน นายพิศิษฐ์ ลีลาวิชิโรภาส กล่าวว่า การลักลอบทิ้งขยะพิษ หรือกากขยะอุตสาหกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต ถือเป็นความโลภ ความเห็นแก่ตัวของผู้ประกอบการ ถ้ารู้จักประกอบการค้าอย่างซื่อตรง มีหลักจริยธรรม คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือสภาพแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ก็คงจะไม่เกิดปัญหา
จากการลงพื้นที่ ทำให้มีข้อสังเกตว่า เจ้าหน้าที่รัฐจะมีส่วนรู้เห็นด้วยหรือไม่ เนื่องจากมีรถดับเพลิงของเทศบาลฯ เข้าไปในพื้นที่ด้วย ยิ่งสนับสนุนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจนสร้างผลกระทบกับชาวบ้าน และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนหนึ่งมาจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปล่อยปละละเลย ขาดความเอาใจใส่ หรือน่าจะมีประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ ทำให้มองไม่เห็นถึงพิษภัยที่เกิดขึ้น
สุดท้ายก็วนเวียนซ้ำซาก กับการต้องใช้งบประมาณมาจ้างเอกชนหน้าเดิมๆ กำจัดสิ้นเปลื้องเงินแผ่นดินไม่รู้จักจบสิ้น “สิ่งที่เห็นก็คือ มีการกำจัดขยะ หรือทิ้งขยะนอกรั้วโรงงาน ซึ่งตรงจุดนี้จะอยู่ในพื้นที่การขออนุญาตหรือไม่ ตนยังไม่ทราบ แต่โดยหลักการแล้ว การกำจัดขยะพิษจะต้องมีรั้วรอบขอบชิด แต่กลับปรากฎว่า มีการทิ้งขยะ มีการฝังกลบนอกบริเวณโรงงาน ซึ่งจะกระทบต่อระบบนิเวศน์แหล่งน้ำธรรมชาติอย่างแน่นอน”
ส่วนมาตรการติดตั้งระบบติดตาม (GPS) รถขนถ่ายกากฯ ป้องกันการทิ้งเถื่อนนั้น นายพิศิษฐ์ฯ ชี้ว่า ปัจจุบันระบบมีอยู่ แต่ไม่ติดตามอย่างจริงจัง และอาจถูกระบบทุนปิดหูปิดตา ทำให้ความจริงไม่ปรากฏ จึงขอเรียกร้องให้องค์กรท้องถิ่น อุตสาหกรรมจังหวัด สิ่งแวดล้อมจังหวัด รวมทั้งผู้ว่าฯจนถึงกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ตลอดจนกระทรวงมหาดไทย ทั้ง 3 กระทรวงนี้จะต้องร่วมกันสำรวจปัญหา แม้กระทั่งองค์กรตรวจสอบอย่าง สตง.และ ป.ป.ช. ก็ควรเข้ามาร่วมกันตรวจสอบ
ทั้งเรื่องการขออนุญาตถูกต้องหรือไม่ และการให้เอกชนประกอบการ โดยขาดการติดตาม ควบคุม จนส่งผลกระทบเช่นนี้ ต้องมีคนรับผิดชอบ และร่วมแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน