ข่าวการศึกษา
บทความพิเศษ โดย ดร. กมล รอดคล้าย
จากสถานการณ์ แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 ส่งผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาขั้นพื้นฐาน ต้องปรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดการศึกษาทางไกล การจัดการเรียนการสอนผ่านช่องทางอื่นๆได้แก่จากแบบเรียนและใบความรู้ การเรียนด้วยตนเองผ่านแหล่งเรียนรู้ต่างๆ การเรียนผ่านระบบออนไลน์ การใช้ห้องเรียนเสมือน ( Virtual Classroom) การเรียนการสอนในรูปแบบโปรแกรม ZOOM โปรแกรม Google MEET การเรียนรู้ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ Facebook และแอพพลิเคชั่นต่างๆ ทำให้เกิดการเรียนรู้รูปแบบใหม่ในสถานการณ์วิกฤติ ซึ่งจำเป็นต้องมีการพัฒนาให้มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ โดยจะต้องให้เกิด “การศึกษาขั้นพื้นฐานวิถีใหม่ วิถีคุณภาพ” ซึ่งเน้นความปลอดภัยในสถานศึกษา ส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม และมีระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ
ในการดำเนินงานดังกล่าว อุปสรรคสำคัญคือ ความไม่พร้อมในอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ของเด็ก โดยเฉพาะกลุ่มที่ผู้ปกครองมีรายได้น้อยจะมีปัญหาเรื่องของอุปกรณ์การเรียน เช่นขาดคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต โทรศัพท์มือถือ รวมทั้งอินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่มีบุตรหลานในวัยเรียน มากกว่า 1 คน จะเผชิญกับข้อจำกัดในการซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพิ่มเติม
กระทรวงศึกษาธิการในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดที่รับผิดชอบการจัดการศึกษาทุกระดับทั้งในและนอกระบบ ได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว จึงเห็นควรให้มีการระดมทุนเพื่อจัดหาอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ ตามนโยบายคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบายส่งเสริมการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์(Coding) แห่งชาติ ที่ได้มีการประชุมเมื่อ เดือนกรกฎาคม 2564 และพิจารณาว่าการสนับสนุนอุปกรณ์ สำหรับใช้ในการเรียนออนไลน์ของนักเรียนมีความจำเป็นต้องได้รับการดูแลและสนับสนุน โดยเฉพาะประเด็นของการจัดหาอุปกรณ์ ได้พิจารณาว่าสามารถดำเนินการระดมทุนด้วยการรับบริจาคทั้งที่เป็นเงินสดและอุปกรณ์จากภาคเอกชนในลักษณะของ Crowdfunding ได้ โดยเป็นเเนวคิดการระดมทุนจากคนเล็กๆจำนวนมาก เพื่อมอบให้กับคนตัวเล็กๆถือว่าเป็นนวัตกรรมการเงินที่ระดมทุนเพื่อสนองความต้องการทางการเงินทั้งเพื่อการกุศลและการลงทุน ซึ่งกฎหมายต่างๆ ของประเทศไทยได้เอื้อให้ดำเนินการในลักษณะนี้อยู่แล้ว เพียงแต่เรายังไม่ได้นำมาใช้หรือพิจารณาเลือกเป็นเเนวทางในการระดมทุนกันบ่อยนัก
วัตถุประสงค์สำคัญในการดำเนินการเรื่องนี้ คือ เพื่อจัดหาอุปกรณ์สำหรับการเรียนออนไลน์ของนักเรียนและเป็นแนวทางให้กับสถานศึกษาต่างๆได้ไปดำเนินการระดมทุนจัดหาอุปกรณ์สำหรับการเรียนออนไลน์ของนักเรียนในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งจะได้มีการกำหนดแนวทางการดำเนินการเพื่อให้เป็นมาตรฐานในการใช้อุปกรณ์ร่วมกันหลังได้รับบริจาคเเล้ว ทั้งนี้เพื่อสร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และทำให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพ
กลุ่มเป้าหมายสำคัญที่จะได้รับอุปกรณ์สนับสนุน คือนักเรียน ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประถมต้น ประถมปลาย มัธยมต้น มัธยมปลาย ทั้งในระบบและนอกระบบ โดยเน้นไปที่นักเรียนซึ่งขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ และมีฐานะยากจน
กระบวนการดำเนินการรับบริจาคประกอบด้วย
1.บริจาคเป็นอุปกรณ์สำหรับใช้ในการเรียนออนไลน์ของนักเรียนได้แก่ โทรศัพท์เคลื่อนที่(Smartphone) คอมพิวเตอร์พกพา( Notebook/ Tablet) คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ( Computer PC) โทรทัศน์อัจฉริยะ( Smart TV) เป็นต้น ซึ่งอุปกรณ์ที่รับบริจาคต้องเป็นของใหม่หรือมีอายุการใช้งานไม่เกิน 1 ปี และอยู่ในสภาพพร้อมใช้
2.บริจาคเป็นเงินสด
ทั้งนี้แนวทางการดำเนินการจะมีการจัดหาและสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนออนไลน์สำหรับเด็กนักเรียน โดยในระดับกระทรวงศึกษาธิการมีการระดมทุนจากภาคเอกชน การขอความร่วมมือจากผู้จำหน่ายอุปกรณ์ให้ขายในราคาพิเศษในระดับหน่วยงานองค์กรหลัก ในระดับจังหวัดหรือเขตพื้นที่การศึกษา และระดับสถานศึกษา อาจจัดทำโครงการในชื่อของ “พี่ใหญ่ให้ยืม”,”โครงการพี่ช่วยน้อง”,”ศิษย์เก่าช่วยจัดหา”
จากนั้นจะมีการกำหนดวิธีการแจกจ่ายหรือระบบการมอบอุปกรณ์ดังกล่าวเพื่อให้ยืมเรียนซึ่งในการ ยืมสิ่งของและอุปกรณ์จะเป็นการยืนยันได้ว่าผู้เรียนจะรับไปเพื่อใช้ในการเรียนรู้ ต้องมีการวางระบบเพื่อรักษาอุปกรณ์ที่ยืมเป็นอย่างดี เมื่อเกิดความเสียหายจะต้องมีการซ่อมแซม หรือจัดหาทดแทนให้ครบตามจำนวนที่สูญหาย
การดำเนินการดังกล่าว จะได้มีการปฏิบัติเป็นรูปธรรมในระยะเวลาอันใกล้นี้ ซึ่งจะเป็นการสร้างมิติใหม่ ของการระดมทรัพยากรทางการศึกษา และเมื่อนำมาใช้ก็เน้นการบริหารจัดการในระบบการยืม แทนการให้เปล่า ซึ่งจะต้องใช้จ่ายด้วยงบประมาณมหาศาลมากกว่านี้ ส่งเสริมเด็กให้ดูเเลรักษาและรับผิดชอบสิ่งของที่ได้ยืมมา ประชาชนทั่วไป ศิษย์เก่า ผู้มีความพร้อม ก็ได้มีโอกาสเผื่อแผ่ความพร้อมที่ตนมี ไปยังบุคคลที่ลำบากกว่า นี่จึงน่าจะเป็นอีกเเนวทางหนึ่งของการดูแลช่วยเหลือเด็กนักเรียนและผู้ขาดโอกาส ให้ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ และทัดเทียมกับผู้ที่มีความพร้อมในสังคม
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน