เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2565 ที่ อาคารศูนย์กีฬากาญจนาภิเษก รัชกาลที่ 9 มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. เปิดเผยว่า ได้เดินทางมา เปิดอบรมการ ขับเคลื่อนงานชุมชนสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชนเปิดการอบรมโครงการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันอาชญากรรมระดับตำบล ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อสนับสนุนการป้องกันอาชญากรรม ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามนโยบายขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน (Stronger Together)
ตามนโยบายรวมไทยสร้างชาติ ขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันของรัฐบาล (Stronger Together) ที่ต้องการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนทุกรูปแบบ โดยบูรณาการการดำเนินการจากทุกภาคส่วน ผนึกกำลังกับเครือข่ายภาคประชาชน ร่วมกันพัฒนา และแก้ไขปัญหาในชุมชน สังคม และท้องถิ่น ตอบสนองความต้องการของประชาชนในทุกๆ มิติ
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. รับผิดชอบงานป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ได้นำนโยบายรัฐบาลมาสู่การปฏิบัติ ในด้านการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม โดยได้จัดทำโครงการ “สร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันอาชญากรรมระดับตำบล เพื่อสนับสนุนการป้องกันอาชญากรรม ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามนโยบายขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน (Stronger Together)” ให้สอดรับกับนโยบายดังกล่าวของรัฐบาล โดยมอบหมายให้ พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นหัวหน้าคณะทำงาน และมี พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นรองหัวหน้าคณะทำงาน ตาม คำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 36/2565 ลงวันที่ 31 มกราคม 2565 โดยมีเป้าหมาย “เพื่อให้ชุมชน สังคมมีความสุขสงบเรียบร้อย ประชาชนมีอาชีพมีรายได้ ส่งเสริมวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว”
พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ทำการคัดเลือกและฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสถานีตำรวจ และระดับกองบังคับการทั่วประเทศ จำนวนกว่า 9,000 นาย เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานกับเครือข่ายภาคประชาชน หลังจากนั้นได้ทำการคัดเลือกและฝึกอบรมเครือข่ายภาคประชาชนจากทุกสาขาอาชีพที่มีบทบาทในสังคมหรือชุมชนนั้นๆ เช่น ผู้นำตามธรรมชาติ ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น หรืออื่นๆ สถานีตำรวจละ 50 คนทั่วประเทศ
รวมกว่า 74,200 คน เพื่อทำหน้าที่ในการสะท้อนปัญหาและความต้องการของชุมชน มายังคณะกรรมการระดับสถานีตำรวจ พิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหา หากไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้หรือเกินขีดความสามารถ จะเสนอไปยังคณะกรรมการระดับอำเภอ คณะกรรมการระดับกองบังคับการ คณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับจังหวัด คณะกรรมการระดับกองบัญชาการ เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหา ความต้องการของประชาชน แต่หากยังไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะทำการรวบรวมปัญหาและความต้องการจากทุกพื้นที่ แล้วรายงานไปยังรัฐบาล เพื่อหาแนวทาง การแก้ไขในระดับประเทศต่อไป
การอบรมเครือข่ายภาคประชาชนตามโครงการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันอาชญากรรมระดับตำบล ของตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ ตามนโยบายขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน (Stronger Together) มีผู้แทน ภาคประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบของสถานีตำรวจในสังกัด เข้ารับการอบรมทั้งสิ้น 1,900 คน จาก 38 สถานีตำรวจในสังกัด สถานีตำรวจละ 50 คน จำนวน 5 รุ่น ในวันนี้เป็นการอบรมในรุ่นที่ 3 โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญตามสาระวิชาที่กำหนด เช่น การสร้างเครือข่ายพลังแผ่นดินเพื่อแก้ไขปัญหา
ความเดือดร้อนของบ้านเมืองและการมีส่วนร่วมในกิจการตำรวจ สถานการณ์ของประเทศในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการแสวงหาความร่วมมือจากประชาชน การสื่อสารเพื่อแสวงหาความร่วมมือและการบริหารเครือข่ายประชาชนความรู้เกี่ยวกับโครงการจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริ การสร้างจิตสำนึกต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ การปฏิบัติงานของตำรวจในยุคปัจจุบัน ตลอดจนการสร้างจิตสำนึกร่วมกันลดอุบัติเหตุ กฎหมายจราจร ขับขี่ปลอดภัย การรณรงค์สร้างอาสาจราจร และช่องทางการแจ้งข้อมูลการกระทำผิด เป็นต้น
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน