วันที่ 14 มีนาคม 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย เพื่อเยี่ยมชมการพัฒนาชุดข้อมูลพื้นฐานไม้ดอกไม้ประดับอัตลักษณ์ประจำถิ่น เพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์ ด้วยแนวทางมาลัยวิทยสถาน ดำเนินโครงการโดย ดร.อนันต์ พิริยะภัทรกิจ และคณะนักวิจัย จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า (วช.) ได้สนับสนุนโครงการมาลัย
วิทยสถาน ให้แก่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ดำเนินโครงการฯ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ด้วยการผลิตไม้ดอกไม้ประดับ โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ทำให้สามารถยกระดับภาคเกษตรเป็นธุรกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการต่อเนื่อง
มุ่งส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทยในการช่วยเพิ่มรายได้ของชุมชนในพื้นที่ให้มากขึ้นกว่าเดิมและเป็นแหล่งวิทยาการแห่งการเรียนรู้ สร้างแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติและวัฒนธรรม เพื่อเป็นต้นแบบและขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ ด้วยการขับเคลื่อนการดำเนินงานผ่าน 4 กิจกรรมย่อย คือ
1.การพัฒนาชุดข้อมูลพื้นฐานไม้ดอกไม้ประดับอัตลักษณ์ประจำถิ่นเพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์
2.การพัฒนาปัจจัยการผลิตในการทำเกษตรปลอดภัยสำหรับไม้ดอกไม้ประดับ
3.การยกระดับระบบการปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับที่ดีด้วยเกษตรแม่นยำ และ
4.การพัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและบรรจุภัณฑ์ไม้ตัดดอกและไม้ประดับกระถางส่งตรงผู้บริโภคได้ต่อไป
แนวทางมาลัยวิทยสถาน เป็นแนวคิดของ ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการนำเอานวัตกรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี การพัฒนาองค์ความรู้ที่ยั่งยืน สู่การพัฒนาตลอดห่วงโซ่การผลิต อาทิ การพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ การคัดเลือกต้นพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับที่แข็งแรงปลอดโรค การส่งเสริมการใช้วัสดุปลูกที่มีคุณภาพและมีสารอาหารที่เหมาะสมต่อพืช ระบบการปลูกเลี้ยงสมัยใหม่ที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน ระบบการปลูกเลี้ยงตามหลักความพอดีไม่เหลือทิ้ง กระบวนการหลังการเก็บเกี่ยว การสร้างกลุ่มเครือข่ายผู้ปลูกเลี้ยงให้เข้มแข็ง รวมถึงการเพิ่มมูลค่าเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวในจังหวัด โดยมีพื้นที่นำร่องในจังหวัดเลย และจังหวัดลำปาง เพื่อเป็นพื้นที่ต้นแบบสู่การเรียนรู้เชื่อมโยงไปยังพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ต่อไป
ดร.อนันต์ พิริยะภัทรกิจ หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า โครงการมาลัยวิทยสถาน ดำเนินโครงการโดย
คณะนักวิจัย (วว.) ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก (วช.) ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในด้านการพัฒนาสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับ และการถ่ายทอดเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านการผลิตไม้ดอกไม้ประดับเชิงพาณิชย์ และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของผู้ผลิตให้มีศักยภาพมากขึ้น ช่วยเสริมสร้างรายได้ให้กับชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากในช่วงวิกฤตระบาดของโควิด-19 และการยกระดับสู่อาชีพที่ยั่งยืนหลังสถานการณ์คลี่คลายด้วยเกษตรสมัยใหม่ ตามหลัก BCG Model เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมอยู่ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)
ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน อีกทั้งยังช่วยปรับปรุงสภาพแวดล้อมในพื้นที่ให้เป็นเมืองน่าอยู่ เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวเป็นประโยชน์กับเกษตรกรผู้ปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับและคนในชุมชนใกล้เคียง และเป็นต้นแบบให้จังหวัดอื่นๆ และก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างกลุ่มเกษตรกร นักวิจัยในมหาวิทยาลัย นักวิจัยในหน่วยงานภาครัฐ
และผู้ประกอบการเอกชนที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับของต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ได้อย่างแท้จริง
นางสาวณัฐริกา ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนท้ายบ้านแก่งไฮ อำเภอภูเรือ กล่าวว่า ปัจจุบัน (วช.) และ (วว. ) ได้ร่วมกันเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องโรคในดิน เรื่องแมลงศัตรูพืช ขณะนี้ได้มีการพัฒนาเรื่องการอบดิน เพื่อไม่ให้ต้นคริสต์มาสเกิดโรคและเสียหาย จะได้อัตราการผลิตที่เพิ่มขึ้น ซึ่งตอนนี้มีการวิจัยอยู่ คาดว่าผลที่จะได้รับคือ ไม้ดอกจะไม่เสียหาย และมีผลผลิตเพิ่มขึ้น มีคุณภาพที่ดีขึ้น รวมถึงการมีดอกใบที่สวยพร้อมส่งออกไปทั่วประเทศ เป็นที่ภูมิใจของศูนย์ฯ ที่ (วว.) และ (วช.) เข้ามาสนับสนุน
สำหรับจังหวัดเลยเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสูงเมืองหนึ่ง เนื่องจากมีวัฒนธรรมที่โดดเด่น และมีธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ทั้งมีภูมิอากาศที่เป็นเย็นสบายตลอดทั้งปี เหมาะแก่การเพาะปลูกพรรณไม้เมืองหนาวหลากหลายสายพันธุ์ ส่งผลให้มีกลุ่มเกษตรกรที่ทำการเพาะเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาวเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอำเภอภูเรือและอำเภอด่านซ้าย เป็นแหล่งผลิตไม้ดอกไม้ประดับที่สำคัญ และขนาดใหญ่สุดของประเทศ
มีไม้ดอกไม้ประดับหลากหลายชนิดและสายพันธุ์ พรรณไม้ดอกไม้ประดับที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดเลยมีอยู่มากมายหลายชนิดไม่ว่าจะเป็นต้นคริสต์มาส ดอกเบญจมาศ สับปะรดสี และพรรณไม้อวบน้ำ
ทั้งนี้ คณะนักวิจัย (วว.) ได้พาคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมสวนไม้ดอกไม้ประดับของเกษตรกรในพื้นที่อำเภอภูเรือ ได้แก่ ไร่ภูซำเตย สวนปูไม้ดอกไม้ประดับ, อุทยานดอกไม้, สวนลุงวุฒิ และสวนไม้ดอกไม้ประดับตำบลสานตม
ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมของโครงการมาลัยวิทยสถานได้ที่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์
และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โทร. 02 577 9018 หรือช่องทาง Website : www2.tistr.or.th และ Facebook Fanpage : Flower Cluster
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน