(14 มี.ค.65)เมื่อเวลา 12.00 น.ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้ใช้อำนาจตามกฎหมายบริหารราชการแผ่นดินสั่งหักกลบลบหนี้คดีค่าโง่คลองด่าน ตามที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 7 มี.ค.65 ให้กรมควบคุมมลพิษจ่ายเงินจำนวน 9,600 ล้านบาทให้กลุ่มบริษัทผู้รับเหมาจนเป็นที่กล่าวขานในสังคมไทยในเรื่องนี้ว่าเป็น “คดีค่าโง่คลองด่าน” นั้น
ตนในฐานะประชาชนผู้มีหน้าที่ต้องพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของประเทศและเป็นหน้าที่ของพลเมืองเห็นว่าเรื่องนี้่มีการสมคบกันเป็นขบวนการที่ฝังรากลึกอยู่ในระบบราชการจนกระทั่งเป็นเหตุให้ศาลปกครองพิพากษาดังกล่าว ทั้ง ๆ ที่เรื่องนี้เป็นกรณีที่มีการทุจริตขนาดใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของประเทศไทยและก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐจำนวนมหาศาล แต่รัฐกลับต้องชดใช้ค่าเสียหาย ทั้งที่มีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่รัฐไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายรายนี้ จึงขอให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามกฎหมายบริหารราชการแผ่นดิน สั่งการให้กรมควบคุมมลพิษระงับการจ่ายเงินตามคำพิพากษาของศาล และให้เรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐและรายงานให้ศาลทราบ กล่าวคือกรณีดังกล่าวนี้เกิดจากกรมควบคุมมลพิษถูกหลอกลวงว่าผู้รับเหมามีประสบการณ์และมีผลงานในการสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียมาก่อน ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญในการทำสัญญาบำบัดน้ำเสียอันเป็นเหตุแห่งคดีดังกล่าว ทั้งที่ความจริงแล้วผู้รับเหมารายนี้ไม่เคยมีประสบการณ์และมีผลงานใด ๆ ในการสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียมาก่อน ซึ่งเป็นสาระสำคัญของเรื่องค่าโง่รายนี้ ดังนั้นผู้รับเหมารายนี้จึงไม่มีคุณสมบัติที่จะได้รับงานบำบัดน้ำเสีย เพราะเหตุที่มีการปกปิดและหลอกลวงกรมควบคุมมลพิษจึงทำให้กรมควบคุมมลพิษได้เข้าทำสัญญาและทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐเป็นจำนวนเงินกว่า 23,000 ล้านบาท ซึ่งผู้รับเหมารายนี้ต้องชดใช้แก่กรมควบคุมมลพิษ อีกทั้งศาลฎีกาก็ได้พิจารณาคดีเกี่ยวกับการหลอกลวงดังกล่าวและพิพากษาให้จำคุกผู้บริหารของผู้รับเหมาฐานฉ้อโกงตั้งแต่ 3-6 ปี ข้อเท็จจริงจึงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลฎีกานั้นว่าผู้รับเหมาหลอกลวงทำให้กรมควบคุมมลพิษเสียหายไม่น้อยกว่า 23,000 ล้านบาท ซึ่งกรมควบคุมมลพิษมีสิทธิ์ที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้รับเหมาได้ แต่กลับมีการละเว้นไม่ดำเนินการใด ๆ จนถึงทุกวันนี้ทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐและเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรมควบคุมมลพิษจึงมีหน้าที่ต้องเรียกร้องให้ผู้รับเหมาชดใช้ค่าเสียหายไม่น้อยกว่า 23,000 ล้านบาท ถ้าผู้รับเหมาไม่ชำระก็จะต้องฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมาย และกรมควบคุมมลพิษมีสิทธิ์ที่จะหักกลบลบหนี้จากค่าเสียหายดังกล่าวกับจำนวนเงินที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาจำนวน 9,600 ล้านบาท นั่นคือผู้รับเหมาจะต้องชำระเงินส่วนที่เหลือแก่กรมควบคุมมลพิษไม่น้อยกว่า 13,400 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
เมื่อกรมควบคุมมลพิษไม่ดำเนินการตามข้อนี้ จึงเป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีจะต้องสั่งการให้แก้ไขให้มีการดำเนินการให้มีการยกเลิกหรือระงับการดำเนินใด ๆ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ มิฉะนั้นนายกรัฐมนตรีมีความรับผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และกฎหมาย ป.ป.ช. เช่นเดียวกับกรณีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีในคดีจำนำข้าว