วันที่ 11 มีนาคม 2565 ที่อาคาร 1 วช.1 ถ.พหลโยธิน บางเขน กรุงเทพมหานคร : ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นประธานเปิดกิจกรรมแถลงข่าว “NRCT Talk : การใช้ประโยชน์งานวิจัย ปี 65” พร้อมบรรยายแผนปฏิบัติการการใช้ประโยชน์งานวิจัยและนวัตกรรมเชิงเป้าหมายยุทธศาสตร์ ณ ศูนย์จัดการความรู้การวิจัย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ถนนพหลโยธิน กรุงเทพมหานคร เพื่อให้สาธารณชนได้รับรู้ถึงการใช้ผลงานวิจัยและการพัฒนานวัตกรรม ตลอดจนองค์ความรู้ต่างๆ มาพัฒนาและใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมและเพื่อนำไปสู่การบรรลุผลตามประเด็นยุทธศาสตร์และแผนแม่บทของประเทศ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กว่าวว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนและบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในด้านการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม การพัฒนาเชิงพื้นที่ การเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและเกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับปี พ.ศ.2565 (วช.) มุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์งานวิจัยและนวัตกรรมให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ตามนโยบายของ (อว.) จึงได้พัฒนาแนวทางการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์งานวิจัยและนวัตกรรมในรูปแบบที่สอดคล้องกับบทบาทของ (วช.) โดยเริ่มจากการสร้างกรอบแนวคิดสนับสนุนทุนในการนำผลงานวิจัย และนวัตกรรม ไปใช้ประโยชน์เพื่อตอบสนองเป้าหมายแผนยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ ซึ่ง (วช.) ได้สนับสนุนทุนวิจัยแก่ผลงานวิจัยและนวัตกรรมตามแผนยุทธศาสตร์ของประเทศ ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 ยุทธศาสตร์สร้างการเติบโตสีเขียวสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ การจัดขยะแบบ Zero Waste (วช.) เน้นผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่สามารถป้องกันผลิตภัณฑ์และการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการแก้ไขปัญหาท้าทายสำคัญในด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ยุทธศาสตร์ที่ 2 ยุทธศาสตร์ส่งเสริมเกษตรมูลค่าสูง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นแหล่งอาหารโลก ซึ่ง (วช.) นำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาผสมผสานกับงานวิจัย จะทำให้เกษตรกรหลุดพ้น จากความยากจน
ยุทธศาสตร์ที่ 3 ยุทธศาสตร์สร้างสังคมสูงวัย แบบพลังผู้เฒ่า (วช.) จะส่งเสริมและสร้างศักยภาพงานวิจัยให้รองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัย
ยุทธศาสตร์ที่ 4 ยุทธศาสตร์สร้างการเติบโต แบบแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน และลดความเหลื่อมล้ำ (วช.) จะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยนำผลงานวิจัยมาถ่ายทอดเป็นองค์ความรู้ให้กับชุมชน เพื่อสร้างอาชีพ และสร้างโอกาสในการหารายได้ให้กับผู้ที่ว่างงานในชุมชน
ยุทธศาสตร์ที่ 5 ยุทธศาสตร์การเพิ่ม ขีดความสามารถการแข่งขัน ลดการนำเข้า และขับเคลื่อนประเด็นเร่งด่วนของประเทศ (วช.) มีนโยบายที่จะนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมพัฒนาต่อยอดและใช้ประโยชน์เพื่อบรรเทาปัญหาเร่งด่วนของประเทศ โดยองค์ความรู้วิจัยและนวัตกรรม อาทิ ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ปัญหาฝุ่นละออง และหมอกควัน เป็นต้น
ในส่วนการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม (วช.) พัฒนาและยกระดับระบบเครือข่ายนวัตกรรมให้เอื้อต่อการใช้ประโยชน์งานวิจัยและนวัตกรรม และปรับโครงสร้างการปฏิบัติงานของ (วช.) ให้มีขั้นตอนตั้งแต่การกำหนดแผนการดำเนินงาน แบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เน้นความต้องการใช้ประโยชน์จากกลุ่มเป้าหมายหรือพื้นที่หรือผู้ใช้ประโยชน์หลัก โดยมีกลไกการจัดทำข้อตกลงระหว่างองค์กรที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน และวางหลักการติดตามและประเมินผลเชิงพัฒนา ซึ่งจะเน้นการวัดประสิทธิภาพเชิงประจักษ์อย่างเป็นระบบ และกำหนดการใช้ประโยชน์จากชุดข้อมูลผลการติดตามและประเมินผลในการพัฒนากลไกด้วย
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวทิ้งท้ายว่า (วช.) จะช่วยผลักดันและสนับสนุนผลงานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทยให้ก้าวไกล มีศักยภาพ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในหลากหลายมิติ ลดปัญหาต่างๆ ของประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนต่อไป
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน