บทความพิเศษโดย ดร.กมล รอดคล้าย ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ปัจจุบันระบบการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ได้รับความนิยมอย่างสูงเกือบทุกองค์กร ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและในภาคส่วนของการศึกษา การจัดการเรียนรู้ดังกล่าว เป็นการพัฒนาบทเรียนโดยใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา โดยเนื้อหาที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอน ต้องมีเทคนิควิธีการออกแบบที่เหมาะสมให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ กศน.ได้มีการพัฒนาการเรียนการสอนแบบออนไลน์มาอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ซอฟต์แวร์มาตรฐาน อาทิ Google Classroom,Zoom,Google Meet ฯลฯ ซึ่งสำนักงาน กศน. จังหวัดต่างๆได้นำไปประยุกต์ใช้และพัฒนาเพิ่มเติม เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพของพื้นที่และวัตถุประสงค์ในการจัด จึงอาจกล่าวได้ว่าระบบการศึกษาแบบออนไลน์ของ กศน. มีการดำเนินการครบทุกพื้นที่ ทุกหน่วยงาน และทุกระดับ
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้กระบวนการจัดการดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีมาตรฐานใกล้เคียงกันในทุกพื้นที่ของประเทศ บุคลากรของ กศน.ได้มีการพัฒนาระบบการจัดการเรียนการสอนแบบ learning Management System (LMS) ขึ้นโดยครอบคลุมทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาแบบออนไลน์ และได้มีการอบรมให้ความรู้แก่บุคลากรต้นแบบรวมทั้งครูผู้สอนทุกคนในสำนักงาน กศน. กทม. เรียบร้อยเเล้ว นอกจากนี้กำลังเตรียมการอบรมและมอบระบบให้สถาบันการศึกษาทางไกลและ สำนักงาน กศน. 77 จังหวัดนำไปประยุกต์ใช้ต่อไป
สำหรับระบบที่ใช้ จะทำหน้าที่เหมือนกับเป็นโรงเรียนแห่งหนึ่ง โดยประกอบด้วยระบบจัดการด้านต่างๆที่สำคัญ 3 ระบบคือ
1) ระบบจัดการหลักสูตร เป็นส่วนของการจัดการเกี่ยวกับระบบการเรียนการสอน เป็นหน้าที่ของครูผู้สอนที่จะเป็นผู้ทำระบบจัดการหลักสูตร ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของ e – learning ประกอบด้วยระบบย่อยสองระบบคือ
1.1 ระบบจัดการบทเรียน เป็นระบบจัดทำบทเรียนโดยการศึกษาวิเคราะห์เนื้อหาจากหลักสูตร กำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้ ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ จัดทำสื่อ จัดหาแหล่งข้อมูลแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญและจำเป็น รวมถึงการตกแต่งหน้า web page ให้จูงใจในการเรียน
1.2 ระบบการวัดและประเมินความรู้ เป็นระบบการจัดทำแบบฝึกหัด แบบทดสอบสำหรับผู้เรียน เพื่อฝึกทักษะความสามารถในการคิด รวมถึงเป็นการวัดความรู้ความคิดผู้เรียนที่ได้เรียนรู้จากบทเรียนเป็นการประเมินศักยภาพในการเรียนรู้ของผู้เรียนและผู้เรียนจะทราบผลการทดสอบทันทีหลังจากสอบเสร็จ หรืออาจมีการเฉลยคำตอบหรือวิธีการอื่นๆแล้วแต่การออกแบบระบบของผู้สอน
2) ระบบส่งเสริมการเรียนรู้ เป็นระบบช่วยเหลือในการจัดทำบทเรียนของครูผู้สอนและช่วยในการเรียนรู้ของผู้เรียน ประกอบด้วยโปรแกรมจัดทำบทเรียนที่ครูผู้สอนสามารถบรรจุข้อมูล เนื้อหา คำสั่งกิจกรรม และข้อมูลอื่นๆลงในระบบได้โดยง่าย รวมถึงการใส่ภาพประกอบ ภาพเคลื่อนไหว วิดีโอหรือไฟล์ข้อมูลต่างๆ ซึ่งผู้เรียนสามารถสร้างเนื้อหาตามที่ครูผู้สอนกำหนดกิจกรรมไว้ได้ด้วยวิธีการเดียวกับครูผู้สอน นอกจากนี้ระบบส่งเสริมการเรียนรู้ ยังมีระบบการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้สอนกับผู้เรียนได้เช่น กระดานข่าว (web board)กระดานสนทนา (chat) จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (email) หรือการติดต่อผ่านกล้องวิดีโอ (web cam) ในกรณีที่ใช้เครือข่ายสัญญาณความเร็วสูง
3) ระบบจัดการข้อมูล เป็นระบบจัดการด้านฐานข้อมูล ซึ่งจะเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆของครูผู้สอน ข้อมูลของผู้เรียน สถิติต่างๆ เช่น สถิติการเข้าเรียนวันที่ เวลา ระยะเวลา ข้อมูลส่วนตัว รหัสผ่าน สถิติการทำแบบฝึกหัด แบบทดสอบและคะแนนที่ได้เป็นต้น
ในส่วนของคุณสมบัติเด่น ของระบบ LMS ที่นำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนของ กศน. ทั่วประเทศในครั้งนี้คือ
1.เป็นการพัฒนาจาก Open Source พัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง ฟรี ไม่ติดเรื่องลิขสิทธิ์ ซอฟต์แวร์ที่มีความสามารถสูง มีโมดูลกิจกรรมใช้งานจำนวนมาก ใช้สนับสนุนการเรียนการสอนโดยสามารถใช้เป็นสื่อหลัก และสื่อเสริม
2.รองรับมาตรฐาน e-learning กลาง scorm ( กลไกรักษามาตรฐานอีเลินนิ่ง)
3.สามารถติดตั้งได้ทุกระบบปฏิบัติการ ใช้งานง่ายทั้ง สำหรับผู้ดูแลระบบ ผู้สอน และผู้เรียน มีเครื่องมือที่ใช้สร้างแหล่งความรู้และกิจกรรมแบบออนไลน์ครบถ้วน
4.รองรับการใช้งานมากกว่า 60 ภาษา รวมทั้งภาษาไทย
จากการจัดอบรมระบบ LMS ให้กับครูผู้สอนในสำนักงาน กศน. กทม.ไปแล้วได้เห็นผลเป็นที่ประจักษ์ว่าประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นระบบซึ่งพัฒนาขึ้นจากบุคลากรภายในของ กศน. เองโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น ภายใต้ความเข้าใจถึงบริบทและภารกิจของ กศน. โดยตรง จากนี้ไปจะได้มีการขยายผลไปยังสำนักงาน กศน. จังหวัด 77 จังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งครูผู้สอนของสถาบันการศึกษาทางไกล ทั้งนี้เบื้องต้นจะได้มีการคัดเลือกบุคลากรเข้ารับการอบรมให้เข้าใจเเละสามารถใช้ระบบได้ จังหวัดละประมาณ 10 คน และเมื่อผ่านการอบรมพัฒนาแล้ว ผู้ผ่านการอบรมจะได้มีการนำไปขยายผลให้กับครูในจังหวัดของตนต่อไป
เชื่อมั่นได้ว่าระบบการสอนแบบ LMS จะเป็นมิติใหม่ของการจัดการศึกษาของ กศน. ช่วยพัฒนาศักยภาพครู ด้านทักษะและความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) และเป็นการเสริมความรู้เพื่อให้สามารถใช้โซเชียลมีเดียและแอพพลิเคชั่นต่างๆในการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีคุณภาพในอนาคต
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน