ที่ห้องโถงหน้าห้องเมืองราด ชั้น 5 อาคาร 2 ศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์ นายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธานในพิธีมอบแบบผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ให้กับนายอำเภอ และผู้แทนนายอำเภอทุกอำเภอ พัฒนาการจังหวัดเพชรบูรณ์ พัฒนาการอำเภอ กลุ่มทอผ้าภายในจังหวัดเพชรบูรณ์ นำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไทย สร้างงาน สร้างอาชีพ พัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ หัวหน้าส่วนราชการ เข้าร่วม
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงออกแบบผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา”โดยได้รับแรงบันดาลพระทัยจาก “ผ้าขิดลายสมเด็จ” ซึ่งปรากฏอยู่บ่อยครั้งในฉลองพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงนั้นมีความหมายที่ดีและมีความงดงาม จึงทรงนำมาต่อยอดให้มีความร่วมสมัยโดยในแต่ละลวดลายมีความหมายดังนี้
ลาย S ที่ท้องผ้า หมายถึง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงเป็นต้นแบบในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าไทยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้ทรงออกแบบให้เว้นช่องว่างไว้ เพื่อให้ราษฎรได้ร่วมถักทอลวดลายของตนเองลงในช่องว่าง เป็นการสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวสำหรับแต่ละท้องถิ่น
โดยลายขิดที่เป็นกรอบล้อมรอบตัว S นี้ หมายถึงความจงรักภักดีที่ชาวไทยมีต่อพระบรมราชจักรีวงศ์
ลายเชิงผ้ารูปหัวใจ หมายถึง ความรักของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ที่มีต่อปวงชนชาวไทย
ลาย S ประกอบกับลายขิดที่เชิงผ้าหมายถึง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงปรารถนาให้คนไทยอยู่ดีมีสุข
ลายต้นสนที่เชิงผ้า หมายถึง พระดำริใน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญาในการฟื้นฟูประวัติศาสตร์ของโครงการศิลปาชีพฯ ลายต้นสนนี้เป็นลวดลายพื้นถิ่นที่ถักทออยู่บนผืนผ้าของบ้านนาหว้า จังหวัดนครพนมที่ซึ่งเป็นจุดกำเนิดโครงการศิลปาชีพฯ
ลายหางนกยูงที่เชิงผ้าหมายถึง ความตั้งพระทัยมั่นของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการสืบสาน รักษาและต่อยอด พระราชกรณียกิจของสมเด็จย่าของพระองค์ ในการฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าไทยให้ดำรงคงอยู่คู่แผ่นดิน
สนง.ปชส.พช/มนสิชา คล้ายแก้ว