วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่ วิสาหกิจชุมชน อำเภอรัตภูมิ และอำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา ดูความสำเร็จโครงการวิจัย “การพัฒนาชุมชนเพาะเลี้ยงชันโรงสู่การเป็นชุมชนนวัตกรรมอย่างยั่งยืนจังหวัดสงขลา” เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งชันโรง การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ การตลาด ตลอดจนผลักดันจากอาชีพเสริมสู่อาชีพหลัก สร้างรายได้มั่นคง
ผศ.ดร.ปกรณ์ ลิ้มโยธิน คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ในฐานะผู้อำนวยการแผนโครงการฯ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ มีองค์ความรู้ด้านการเลี้ยงผึ้งชันโรงอยู่แล้ว ผนวกกับความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนในพื้นที่ต่างๆ จากการทำงานวิจัย จึงได้นำองค์ความรู้ที่เรามีมาถ่ายทอดแก่เกษตรกร ตั้งแต่การเริ่มต้นเลี้ยง การเก็บผลผลิต การสร้างผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ชุมชนสามารถสร้างอาชีพและรายได้ พร้อมผลักดันให้จังหวัดสงขลาเป็นเมืองแห่งชันโรง โดยพยายามจะลดความเหลื่อมล้ำของสังคมเมืองและสังคมชนบทให้ได้
ผศ.ดร.นุกูล ชิ้นฟัก ผู้ช่วยคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ในฐานะหัวหน้าโครงการย่อย เล่าว่า จากความสำเร็จ ภายใต้โครงการการจัดการความรู้ข้อเสนอเชิงนโยบายสู่การปฏิบัติในการฟื้นฟูป่าชายเลนในบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และการจัดตั้งศูนย์วิจัยชุมชนตำบลชะแล้ (อุง) สร้างอาหารปลอดภัย ตำบลชะแล้ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา โดยการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ และชุมชนเกิดความรู้ความเข้มแข็งจากการเรียนรู้งานวิจัยเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมป่าชายเลน จนเกิดผลพวงที่สำคัญ คือ แหล่งเพาะเลี้ยงชันโรงที่เหมาะสมตามธรรมชาติ และสามารถขยายผลสร้างอาชีพให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ได้ จึงต่อยอดเป็นโครงการ “การพัฒนาชุมชนเพาะเลี้ยงผึ้งชันโรงสู่การเป็นชุมชนนวัตกรรมอย่างยั่งยืนจังหวัดสงขลา” ปัจจุบันได้ดำเนินการไปแล้ว 8 อำเภอ 10 วิสาหกิจชุมชน ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ หรือ บพท.
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพาะเลี้ยงชันโรงบ้านคลองต่อ อ.รัตภูมิ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอุงและญิงยวน อ.บางกล่ำ จ.สงขลา เล่าว่า กลุ่มวิสาหกิจฯ ได้ริเริ่มเลี้ยงผึ้งชันโรงโดยเชื่อมโยงการเกษตรอินทรีย์อย่างสมบูรณ์ ปัจจุบัน มีการเลี้ยงชันโรงจำนวนหลายพันรัง ใน 3 สายพันธุ์ ได้แก่ ขนเงิน ทูราซิก้า และอีตาม่า โดยขับเคลื่อนร่วมกับเครือข่ายรายย่อยในพื้นที่ พร้อมส่งเสริมให้โรงเรียนและชุมชน มาเรียนรู้การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่าเพิ่ม ภายหลังที่มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้เข้ามาช่วยสนับสนุนข้อมูลเชิงวิชาการ เพื่อวิเคราะห์คุณค่าและคุณภาพทางโภชนาการของน้ำผึ้งชันโรง การสร้างผลิตภัณฑ์ จึงสามารถสร้างความเชื่อมั่นใจให้กับผู้บริโภคและเกษตรกรในการพัฒนาต่อไปได้มากยิ่งขึ้น
ผึ้งชันโรงมีความพิเศษกว่าผึ้งชนิดอื่นๆ คือ จะมีการนำยางจากต้นไม้ชนิดต่างๆ มาต่อเติมสร้างรังของตัวเอง ทำให้น้ำผึ้งมีสรรพคุณทางยาที่ดี และยังเป็นเครื่องบ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้และการทำเกษตรกรรมได้ว่ามีความเป็นเกษตรอินทรีย์เกือบทั้งหมด ช่วยส่งเสริมให้พืชพรรณ โดยเฉพาะผลไม้ให้เกิดผลผลิตมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้ง น้ำผึ้งชันโรงมีสารต้านอนุมูลอิสระ จึงสามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เสริมความงามและผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อสุขภาพได้ เช่น ยาหม่องขี้ผึ้งชันโรง พิมเสน ครีมบำรุงผิว สบู่ และเร็วๆ นี้จะพัฒนาเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพผสมคอลลาเจนจากสาหร่ายพวงองุ่นอีกด้วย ด้านรสชาติน้ำผึ้งยังให้ความแตกต่างจากน้ำผึ้งอื่นๆ ตรงรสเปรี้ยวอมหวาน ราคาซื้อขายปัจจุบันอยู่ที่ 2 บาทต่อ 1 มิลลิลิตร โดยผึ้ง 2-3 รังให้ผลผลิตน้ำผึ้งประมาณ 1 กิโลกรัม สร้างรายได้หลักแสนถึงหลักล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นได้อีก
นับเป็นการเดินหน้าสร้างสัตว์เศรษฐกิจใหม่ ที่ผู้บริโภคและเกษตรกรให้ความสนใจกันมากขึ้น ผลผลิตมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ หน่วยงานและมหาวิทยาลัยในท้องถิ่น จึงพยายามผลักดันให้เลี้ยงเป็นอาชีพ เพื่อส่งเสริมรายได้ที่มั่นคงมากขึ้น ทั้งยังสนับสนุนให้เยาวชนคนรุ่นใหม่มาเรียนรู้ธรรมชาติ เพื่อสร้างทางเลือกอาชีพ และหวงแหนบ้านเกิดได้ต่อไป สำหรับผู้ที่สนใจเรียนรู้หรือเลี้ยงชันโรงสามารถติดต่อมายังวิสาหกิจชุมชนได้ทุกเมื่อ
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน