วันที่ 23 ก.พ.65 : ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม แถลงผลสำเร็จโครงการ Quick Wins “เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง” ปีที่ผ่านมา พร้อมผลักดันโครงการสู่เฟส 2 ให้ผู้สูงวัยใช้พลังขับเคลื่อนประเทศด้านต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมจัดเสวนา Forum Talk ให้เหล่าไอดอลวัยเก๋า เข้ารับโล่บุคคลวัยเกษียณ พร้อมตีแผ่แง่คิดการใช้ชีวิตอย่างมีพลัง โดยมี รศ.พิเศษ ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการ และโฆษกกระทรวงกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้เกียรติเข้าร่วม ณ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนกฯ กล่าวว่า ปัจจุบันผู้สูงอายุมีปริมาณกว่าร้อยละ 12 ของประชากรไทย และมีแนวโน้มที่โครงสร้างผู้สูงวัยจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากไม่มีการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่วัยเกษียณที่ดีพอ จะส่งผลให้สภาพจิตใจและคุณภาพชีวิตเสื่อมถอยลง หากพวกเรามาร่วมกันส่งเสริมคุณภาพชีวิตของกลุ่มผู้สูงวัย ให้แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ ห่างไกลจากภาวะซึมเศร้าและติดบ้าน และเห็นคุณค่าของตัวเอง โดยไม่ปล่อยให้ร่างกายที่ร่วงโรยมาบั่นทอนจิตใจ โดยกลุ่มคนเหล่านี้ยังมีความรู้ ความคิด และประสบการณ์ชีวิต ถ้าเราสามารถนำสิ่งเหล่านี้มาใช้ร่วมกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญหรือมีทักษะด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ จะเกิดความลงตัวในหลากหลายด้าน ทั้งการเกิดทักษะใหม่ มีการปรับรูปแบบกระบวนการคิดและวิธีการใช้ชีวิตต่างๆ ซึ่งเราอยากเห็นความสุขเกิดขึ้นในทุกๆ ช่วงวัย สามารถช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้ โดย (อว.) มุ่งมั่นผลักดันให้โครงการ “เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง” เป็นวาระแห่งชาติ เป็นโครงการที่มีทั้งความสนุก และความรู้ทางวิชาการ เพื่อพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ให้กลุ่มคนเหล่านี้เป็นเป็นคนสูงวัยที่มีคุณภาพ พร้อมก้าวสู่การใช้ชีวิตและช่วยเหลือสังคมในวัยเกษียณได้อย่างมีพลัง
รมว.อว. กล่าวต่อว่า ได้มอบหมายให้ (วช.) สร้างกลไกการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย โดยสนับสนุนทุนวิจัยและขับเคลื่อนผลงานวิจัยพร้อมใช้ ในประเด็นเรื่อง “การเปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง” : ผู้สูงวัยมีทักษะในการประกอบอาชีพ เพื่อเปิดโอกาสและสร้างแรงจูงใจให้วัยเกษียณหรือสูงอายุเข้าสู่สังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ให้เห็นผลสำเร็จโดยเร็ว ครอบคลุมการจ้างงาน การสร้างความรู้ภาคเกษตรสมัยใหม่ เสริมทักษะการดำรงชีวิตและอาชีพ เพื่อสร้างรายได้ที่เหมาะสมกับศักยภาพ การป้องกันโรค สร้างเสริมและฟื้นฟูสุขภาพกายใจ พร้อมจัดสภาพแวดล้อมให้เป็นมิตร รวมทั้ง การเตรียมหลักประกันทางสังคมที่สอดคล้องกับความจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต โดยมีสถาบันการศึกษาร่วมดำเนินการ จำนวน 10 สถาบัน ได้แก่ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์,ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์,จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน,มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์,มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์,มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ,มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,มหาวิทยาลัยขอนแก่น,มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ปัจจุบัน โครงการ “เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง” มีผู้สูงอายุเข้าร่วมแล้วทั้งสิ้น 19,000 คน จาก 5 ภูมิภาค 26 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่,เชียงราย,ลำปาง,น่าน,สกลนคร,ขอนแก่น,ชัยภูมิ,นครราชสีมา,ร้อยเอ็ด,สุรินทร์,อุบลราชธานี,ชลบุรี,ระยอง,ฉะเชิงเทรา,กรุงเทพมหานคร,ปทุมธานี,นนทบุรี,นครปฐม,สมุทรปราการ,พระนครศรีอยุธยา,พิจิตร,สงขลา,สตูล,พัทลุง,ชุมพร และกระบี่ ภายใต้ความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมกิจการผู้สูงอายุ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นต้น ทำให้เกิดเป็นผลสำเร็จในด้านต่างๆ ทั้งด้านการส่งเสริมการตลาดออนไลน์ เพื่อพัฒนาทักษะเทคโนโลยีและสร้างธุรกิจออนไลน์สำหรับผู้สูงวัยในยุคดิจิทัล ด้านการเสริมสร้างพัฒนาทักษะอาชีพ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ ในการเตรียมความพร้อมสำหรับประกอบอาชีพในยุควิถีชีวิตใหม่ นอกจากนี้ ยังได้ขยายขอบเขตการดำเนินงานไปอีก 5 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร,จังหวัดชุมพร,จังหวัดนครศรีธรรมราช,จังหวัดลำปาง และจังหวัดสุราษฎร์ธานี
โดยในเฟสที่ 2 จะมุ่งขยายผลให้ครอบคลุม โดยเพิ่มจำนวนผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโครงการ หนุนเสริมทีมสร้างโอกาส เพื่อเพิ่มความยั่งยืน และในปี 2566 จะผลักดันให้เกิดผลมากขึ้น จากการเพิ่มทักษะอื่นๆ อาทิ การพัฒนาศักยภาพ การขับเคลื่อนวิสาหกิจชุมชน และการสร้างอาชีพใหม่สำหรับผู้สูงวัย อีกทั้ง (วช.) จะได้จัดทำศูนย์ข้อมูลและนวัตกรรมในการดูแลผู้สูงอายุแห่งชาติ (National Information and Innovation Center for Elderly Care) เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลสำหรับแลกเปลี่ยน สนับสนุนข้อมูล องค์ความรู้ และหลักสูตรในการดูแลผู้สูงอายุจากนักวิจัย มหาวิทยาลัยและหน่วยงานภาคีเครือข่ายต่างๆ เชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานกลางคลังข้อมูลสุขภาพระดับกระทรวงหรือระดับประเทศ
ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า กิจกรรมเสวนา FORUM TALK “เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง” ในวันนี้ (วช.) ได้รับเกียรติจาก ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธานมอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้บุคคลวัยเกษียณ (Idol วัยเก๋า) ที่มีพลังในการใช้ชีวิตทั้ง 5 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการเสริมสร้างทักษะอาชีพ มอบแก่ คุณยุทธนา ลอพันธุ์ไพบูลย์,ด้านการดูแลสุขภาพ มอบแก่ คุณอัจฉราพรรณ ไพบูลย์สุวรรณ,ด้านส่งเสริมทักษะดิจิทัล มอบแก่ คุณมนัสวิน นันทเสน (ติ๊ก ชีโร่),ด้านสานสัมพันธ์ต่างวัย มอบแก่ คุณนวลนงค์ จามิกรณ์ และด้านจิตอาสาเพื่อสังคม มอบแก่ คุณเนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ มาร่วมสร้างและถ่ายทอดพลังบวกให้กับสังคมผ่านการเสวนา พร้อมด้วยได้รับเกียรติจาก คุณสันติ ลุนเผ่ ศิลปินแห่งชาติ และ รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข ผู้ควบคุมการแสดงขับร้องเพลงประสานเสียง “วงปล่อยแก่” มาร่วมแสดงพลังดนตรีของคนวัยเก๋า ซึ่งล้วนเป็นบุคคลวัยเกษียณที่มีการพัฒนารูปแบบการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขและมีสีสันอยู่ตลอดเวลา สร้างแรงกระเพื่อมอย่างต่อเนื่อง และเป็นแบบอย่างของคนวัยเกษียณ ที่จะร่วมขับเคลื่อนประเทศอย่างเต็มกำลังความสามารถ
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน