เหรียญพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 นับเป็นสิ่งมงคลสักการะอันสูงสุด
ที่คนไทยส่วนใหญ่นิยมสะสมเพื่อเป็นสิริมงคล โดยเฉพาะในแวดวงนักสะสมพระเครื่อง มีการสะสมเหรียญพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ตลอดมามากมายหลายรุ่น ที่นิยมกันอย่างกว้าง คือ
เหรียญพระชัยหลังช้าง ด้านหลัง ภ.ป.ร. เนื้อทองคำ ปี 2530 ที่ระลึก 5 รอบ
1.เหรียญพระชัยหลังช้าง เป็นเหรียญที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดสามพระยา กทม. ในนามคณะสงฆ์ได้จัดสร้างขึ้นในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ 60 พรรษา พ.ศ.2530
เหรียญทรงผนวช ปี 2508 เนื้อเงิน
2.เหรียญทรงผนวช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงผนวชเมื่อ พ.ศ.2499 แต่ “เหรียญทรงผนวช” สร้างขึ้นในพ.ศ.2508 เพื่อเป็นที่ระลึกในการเสด็จฯ พระราชกุศล “จาตุรงคมงคล” พระราชกรณียกิจที่ทรงบำเพ็ญในคราวเดียวกัน 4 อย่าง ระหว่างวันที่ 27-29 สิงหาคม 2508 อันได้แก่
1. พ.ศ.2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมายุ 38 พรรษา เสมอสมเด็จพระราชบิดา
2.พระราชพิธีหล่อพระพุทธรูปปางประทานพรภ.ป.ร. ประดับผ้าทิพย์ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ในวันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม 2508
3.พระราชพิธีฉลองสมโภชพระเจดีย์ วัดบวรนิเวศวิหาร ในวันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม 2508
4.เมื่อเสร็จพระราชพิธีสมโภชพระเจดีย์แล้ว เสด็จพระราชดำเนินต่อไปยังพระอุโบสถ ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมศิลาแผ่นแรกที่จะผนึกผนังพระอุโบสถ เป็นปฐมฤกษ์ที่จะผนึกเปลี่ยนผนังพระอุโบสถในกาลต่อไป
เนื่องใน “จาตุรงคมงคลสมัย” ดังกล่าว วัดบวรนิเวศวิหาร จึงจัดสร้างเหรียญที่ระลึก “ทรงผนวช ๒๔๙๙” นี้ขึ้น
เหรียญทรงผนวช เนื้อทองคำ ปี 2517
3.เหรียญทรงผนวช ปี 2517 จัดสร้างโดย พล.ท.สำราญ แพทยกุล (ยศสมัยนั้น) แม่ทัพกองทัพภาคที่ 3 พร้อมกับวัตถุมงคลหลายรูปแบบ เพื่อหาทุนช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจและอาสาสมัครที่ปฏิบัติหน้าที่ปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ โดยขอพระบรมราชานุญาตพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เชิญอักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร.ประดิษฐานไว้บนวัตถุมงคลรุ่นนี้ ประกอบพิธีพุทธาภิเษกขึ้น 2 ครั้ง ณ วัดสุทัศนเทพวราราม เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2516 ลา 16.49 น. และวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2517
เหรียญ 3 รอบ เนื้อทองคำ ปี 2506
4.เหรียญ 3 รอบ ปี 2506 อนุสรณ์มหาราช จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 3 รอบ (36 พรรษา) เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2506 เป็นเหรียญเสมา ขอบเรียบ ด้านบนมีห่วง ตรงกลางเหรียญเป็นพระบรมรูปครึ่งพระองค์ ผินพระพักตร์เบื้องซ้าย ทรงเครื่องทหารมหาดเล็กเต็มยศ ใต้พระบรมรูปเป็นพระปรมาภิไธย “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” ริมขอบด้านซ้ายมีอักษรภาษาอังกฤษ Royal Mint
ด้านหลัง ตรงกลางเป็นตราพระบรมราชจักรีวงศ์ เบื้องบนมีข้อความ “อนุสรณ์มหาราช” เบื้องล่างโค้งตามตราพระบรมราชจักรีวงศ์ เป็นข้อความว่า “เฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๓ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๐๖”
จัดสร้างด้วยเนื้อทองคำ เงิน ทองแดง และอัลปาก้า ที่นิยมกันมาก คือ เหรียญเนื้อทองคำ ส่วนเนื้ออัลปาก้า มีจำนวนมาก และมีแพร่หลายทั่วไป สำหรับเนื้อเงิน และเนื้อทองแดง พบเห็นน้อยมาก ไม่ค่อยมีของหมุนเวียนในวงการเท่าใดนัก
. เหรียญ 4 รอบ เนื้อเงิน ปี 2518
5.เหรียญ 4 รอบ พ.ศ.2518 คณะสงฆ์จัดสร้างขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 4 รอบ พ.ศ.2518 เพื่อพระราชทานแก่ทหาร ตำรวจ อาสาสมัคร ผู้ปฏิบัติหน้าที่ราชการชายแดน สร้างด้วยเนื้อทองคำ 100 เหรียญ, เนื้อนาก 55 เหรียญ, เนื้อเงิน 750 เหรียญ และเนื้อทอแดง 1,000,000 เหรียญ
(ขอขอบพระคุณ ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช, คุณต้น ท่าพระจันทร์ และคุณโก้ หาดใหญ่ เจ้าของเหรียญ 5 ภาพนี้)