ที่วัดอรัญญาวาส หมู่ที่1 ต.วังโป่ง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ พระสงฆ์ ผู้เฒ่า ผู้แก่ ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลวังโป่ง ได้ร่วมกันจัดพิธีบุญข้าวเปลือกบายศรีสู่ขวัญข้าว สืบสานตำนานพระแม่โพสพ ตามประเพณีความเชื่อแต่โบราณ โดยที่ชาวบ้านที่มาร่วมงาน ต่างนำข้าวเปลือกมาจากบ้านของตนเองเอามากองรวมกันไว้ จนกลายเป็นข้าวเปลือกกองใหญ่แล้วก่อเป็นเจดีย์ ข้าวเปลือก มีขนาดความสูงเกือบ 10 เมตร รวมปริมาณกว่า 10 เกวียน โดยมี พระครูสัทธาราภิรัต รอง.เจ้าคณะอำเภอวังโป่ง เจ้าอาวาสวัดอรัญญาวาส เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และนายสมศักดิ์ เกี้ยวเกิด นายอำเภอวังโป่ง ประธานฝ่ายฆราวาส นางเยาวภา โตสงวน วัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ นายไพรัช พริ้งประยูร นายกเทศมนตรีตำบลวังโป่ง จุดเทียนปลายยอดบายศรี เพื่อประกอบพิธีทำการสู่ขวัญข้าวก่อเจดีย์ข้าวเปลือก มักจัดขึ้นในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ตามประเพณีบุญข้าวเปลือกบายศรีสู่ขวัญข้าว สืบสานตำนานพระแม่โพสพและในปีนี้ได้มีการพัฒนาต่อยอดสืบสานประเพณี โดยสภาวัฒนธรรมอำเภอวังโป่ง และสภาวัฒนธรรมตำบลวังโป่ง เทศบาลตำบลวังโป่ง ร่วมกับพี่น้องประชาชนชาวอำเภอวังโป่ง นำรวงข้าวมาประดับตกแต่งอย่างสวยงาม ซึ่งระหว่างการประกอบพิธี ชาวบ้านจะทำการถือรวงข้าวแล้วร่ายรำรอบเจดีย์ข้าวเปลือกและใช้มือลูบเจดีย์ข้าวเปลือกตลอดทั้ง3รอบ โดยเฉพาะในปีนี้มีความพิเศษกว่าทุกปี ซึ่งได้นินมต์พระนักเทศชื่อดัง จากจังหวัดอุตรดิตถ์ มาร่วมทำพิธีบายศรีสู่ขวัญ อีกด้วย
ทั้งนี้ พระครูสัทธาราภิรัต รอง.เจ้าคณะอำเภอวังโป่ง เจ้าอาวาสวัดอรัญญาวาส กล่าวว่า สำหรับประเพณีบุญข้าวเปลือกของชาวตำบลวังโป่งนั้น ได้กำหนดจัดขึ้นมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษปู่ย่าตายายตามความเชื่อมาอย่างต่อเนื่อง โดยชาวบ้าน จะพร้อมใจกันนำข้าวเปลือกมากองรวมกันทำพิธีบ้านละ 2 ถัง หลังจากประกอบพิธีกรรมแล้วเสร็จ ก็จะนำข้าวไปแจกจ่ายให้กับชาวบ้านที่ยึดอาชีพทำนา ซึ่งถือว่าเป็นพันธ์ข้าวที่เป็นสิริมงคล เมื่อนำไปเพาะปลูกจะทำให้ข้าวเจริญงอกงาม เมล็ดโต มีน้ำหนัก สามารถนำไปเป็นพันธุ์ข้าวในฤดูกาลทำนาต่อไป
ด้าน ดร.วิศัลย์ โฆษิตานนท์ ประธานสภาวัฒนธรรม จังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า วันนี้ชาวอำเภอวังโป่ง ได้จัดงานรับขวัญข้าวก่อเจดีย์ข้าวเปลือก ซึ่งประเพณีนี้เป็นประเพณีเก่าแก่ดั่งเดิม ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในภูมิภาคเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น เขมร ลาว ไทย พม่า ล้วนแต่มีประเพณีนี้ ทางลาวจะบุญกองข้าวใหญ่ อีสานจะเรียกว่าบุญพุ่มข้าวใหญ่ ในส่วนสำหรับที่วังโป่งนั้นจะมีการจัดงานช่วง ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 โดยประเพณีนี้ได้จัดต่อเนื่องกันมา ด้วยเหตุผลเพราะว่า ในโลกแห่งนี้ คนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นได้มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำอยู่ มีขวัญ ขวัญนา ขวัญข้าว ขวัญอะไรต่างๆ การจะลงนาครั้งแรกก็จะทำขวัญข้าว หรือทำบุญกองข้าวต่างๆ โดยทำบุญที่วัด เพื่อที่จะบำรุงพุทธศาสนา ซึ่งในปัจจุบันนี้ การทำนา แบบลงแขกดำนาก็ไม่มีแล้ว ใช้แบบการหว่านข้าว ส่วนการเกี่ยวข้าว ก็จะใช้เป็นรถเกี่ยวข้าว ไม่มีการทำประเพณีเกี่ยวข้าวแล้ว ไม่มีการนวดข้าวเหมือนแต่ก่อน ซึ่งวิถีดั่งเดิมได้หายไปหมด เพราะฉะนั้นประเพณีนี้ เสมือนการจำลองวิถีชาวบ้านแบบเดิมๆ ให้ลูกหลานได้เห็นวิถีชีวิตดังเดิม โดยเราจะได้ไม่ลืมรากเหง้าของบรรพบุรุษ ซึ่งอยากฝากให้พี่น้องประชาชนนั้นได้สนับสนุนประเพณีดั่งเดิมนี้ ให้คงอยู่ไว้ตลอดไป
เดชา มลามาตย์/มนสิชา คล้ายแก้ว