วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานรับมอบนวัตกรรมเครือข่ายห้องสมุดออนไลน์ ไฮบรารี่ ต้นแบบ จากนายอเล็กซองด์ ฮัมเมล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไฮเท็คซ์ อินเตอร์แอคทีฟ จำกัด และนายพสิษฐ์สัทคุณ จุลละมณฑล กรรมการและผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัท สยามจุลละมณฑล จำกัด โดยมีนายกมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช.ศธ.,นางสาวทรงศรี วิระรังษิยากรณ์,นายปรเมศวร์ ศิริรัตน์ และนายภูมิภัทร เรืองแหล่ รองเลขาธิการ กศน. ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ศูนย์การเรียนรู้วังจันทรเกษม กระทรวงศึกษาธิการ
รมช.ศธ. กล่าวว่า ในนามของกระทรวงศึกษาธิการ ขอขอบคุณบริษัท ไฮเท็คซ์ อินเตอร์ แอคทีฟ จากัด และบริษัท สยามจุลละมณฑล จากัด ที่ได้มอบนวัตกรรม เครือข่ายห้องสมุดออนไลน์ ไฮบรารี่ พร้อมอุปกรณ์มูลค่า 750,000 บาท ให้แก่สำนักงาน กศน. โดยจะให้บริการภายในศูนย์เรียนรู้วังจันทรเกษม ซึ่งเปรียบเสมือนห้องสมุดต้นแบบของสำนักงาน กศน. ซึ่งเปิดให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ตลอดจนประชาชนทั่วไปได้ใช้บริการ ตลอดจนครอบคลุมถึงชุมชน รอบกระทรวงศึกษาธิการแห่งนี้
จากที่ได้รับชมการสาธิต การใช้ห้องสมุดออนไลน์ผ่านแฟลตฟอร์มของบริษัทฯ ทำให้เห็นถึงความก้าวหน้าในวงการอ่าน การพัฒนาความสามารถในการเข้าถึงหนังสือรูปแบบ e-Book ของคนไทย เป็นการเข้าสู่ยุคดิจิทัลของห้องสมุดประชาชนในสังกัดสำนักงาน กศน. ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ในการส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ของคนไทย และนโยบายการพัฒนาห้องสมุดและการส่งเสริมการอ่านบนออนไลน์ ควบคู่กับการอ่านหนังสือ ซึ่งยังมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน อีกทั้งยังช่วยในการสร้างนิสัยรักการอ่านในกลุ่มประชาชนทุกช่วงวัยอีกด้วย
ในปัจจุบันที่ประเทศไทยกำลังเผชิญภาวะวิกฤตโควิด 19 ทำให้การเรียนรู้ด้วยตนเองจากการค้นคว้าและเข้าถึงห้องสมุดออนไลน์ ช่วยแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาเล่าเรียน และช่วยสร้างนิสัยรักการอ่านได้อย่างเหมาะสม หวังเป็นอย่างยิ่งว่านวัตกรรมการอ่านดังกล่าวจะเกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงในทุกพื้นที่
“สำหรับการขยายผลการใช้นวัตกรรมเครือข่ายห้องสมุดออนไลน์ ไฮบรารี่ ไปสู่พื้นที่และหน่วยงานในสังกัด ศธ.เพิ่มเติมนั้น คาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เนื่องจากนโยบายของสำนักงาน กศน. และหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของ ศธ.สนับสนุนการใช้สินค้าลิขสิทธิ์ ห้องสมุดแต่ละแห่งจึงเลือกใช้ e-Book ที่ถูกลิขสิทธิ์มาให้บริการตามรูปแบบห้องสมุดออนไลน์ต้นแบบ รวมถึงโลกของการศึกษายุคใหม่จำเป็นต้องพัฒนาไปสู่ยุคดิจิทัลที่สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว และครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อสร้างความเท่าเทียมในการเรียนรู้และการศึกษาของประชาชนทุกคนแบบไร้พรมแดน”
นายอเล็กซองด์ ฮัมเมล กล่าวถึงการพัฒนาข้อมูลความรู้สู่รูปแบบดิจิทัลและการเผยแพร่ด้วยระบบออนไลน์ว่า เป็นเรื่องสำคัญสำหรับโลกยุคใหม่ ซึ่งเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตช่วยให้สามารถรับ-ส่งองค์ความรู้ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้นำข้อมูลมาประมวลผลปรับใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และเพิ่มโอกาสทางการศึกษาได้อย่างทั่วถึง โดยประเทศไทยมีแนวโน้มการใช้สื่อดิจิทัลเพื่อการศึกษาและความบันเทิงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากพฤติกรรมการรับสื่อที่เปลี่ยนไป สอดคล้องกับการเติบโตของตลาดอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และเครื่องอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์
โดยฝั่งผู้ผลิตสื่อและสำนักพิมพ์ก็ปรับตัวผลิตสื่อในรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ผนวกกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 จึงเป็นปัจจัยเร่งเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบเร็วขึ้น ดังนั้นเพื่อให้ห้องสมุดปรับตัวได้ทันต่อโลกยุคใหม่ ระบบห้องสมุดออนไลน์ ไฮบรารี่ จึงถูกพัฒนาขึ้นด้วยแนวคิดที่องค์กรไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณในการพัฒนาและดูแลระบบห้องสมุดออนไลน์ที่สูงและใช้เวลานาน แต่เน้นการใช้งบประมาณไปเพื่อจัดหา e-Book และสื่อการเรียนรู้ใหม่ ๆ มาผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนให้บริการอย่างทั่วถึงแทน
ปัจจุบันมีหน่วยงานและองค์กรใช้งานระบบห้องสมุดออนไลน์ ไฮบรารี่ ครอบคลุมทั้งหน่วยงานรัฐ บริษัทเอกชน สถาบันอุดมศึกษา โรงเรียน และห้องสมุดประชาชน อาทิ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สำนักหอสมุดแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โรงเรียนกำเนิดวิทย์ เป็นต้น
สำหรับการส่งมอบนวัตกรรมเครือข่ายห้องสมุดออนไลน์ ไฮบรารี่ ให้แก่กระทรวงศึกษาธิการในครั้งนี้ เป็นการพัฒนาและขยายผลความสำเร็จจากโครงการ 35 ห้องสมุดประชาชนออนไลน์ ที่เปิดให้บริการแก่ประชาชนทั่วประเทศอ่าน e-Book ฟรี ซึ่งมีผู้ใช้บริการอ่านหนังสือในระบบมากถึง 13,500 ครั้ง มีการยืม e-Book มากกว่า 4,500 ครั้ง และมีจำนวนการอ่านมากกว่า 80,000 นาที ดังนั้นเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทางบริษัทฯ จึงร่วมกับบริษัท สยามจุลละมณฑล จำกัด พัฒนานวัตกรรมเครือข่ายห้องสมุดออนไลน์ ไฮบรารี่ เพื่อส่งมอบแก่สำนักงานกศน. ได้นำไปเป็นต้นแบบขยายการใช้งานสู่อีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เชื่อมั่นว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ทำให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชน เข้าถึงแหล่งความรู้ได้ง่าย ทั่วถึงขึ้น ในทุกที่ ทุกเวลา เกิดเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตทุกช่วงวัยอย่างแท้จริง
นายพสิษฐ์สัทคุณ จุลละมณฑล กล่าวถึงที่มาของการส่งมอบนวัตกรรมเครือข่ายห้องสมุดออนไลน์ ไฮบรารี่ ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการดำเนินชีวิต และการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นขั้นพื้นฐาน นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยในสถานศึกษาทุกแห่ง ต้องปรับตัวสู่ระบบการเรียนการสอนแบบออนไลน์ รวมไปถึงการเข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้สำคัญอย่างห้องสมุดที่ไม่สามารถเปิดให้บริการได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นห้องสมุดจึงจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีมาช่วยในการพัฒนาการให้บริการและปรับเปลี่ยนสู่รูปแบบห้องสมุดออนไลน์ เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์มากขึ้น
โดยบริษัทฯ ในฐานะผู้ให้บริการด้านการผลิต จัดจำหน่าย และพัฒนาสื่อนวัตกรรมเพื่อการศึกษาครบวงจร ได้มีผลักดัน ส่งเสริม และสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐและประชาชนมีความเข้าใจถึงการใช้งานเครือข่ายห้องสมุดออนไลน์ ไฮบรารี่ ผ่านหลักสูตรอบรมระบบการบริหารงานห้องสมุด และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านร่วมกับห้องสมุดประชาชนแต่ละแห่งจนประสบความสำเร็จจากโครงการ 35 ห้องสมุดประชาชนออนไลน์ที่ผ่านมา
ดังนั้น เพื่อเป็นการขยายผลต่อยอดความสำเร็จ จึงได้มีการนำเสนอนวัตกรรมเครือข่ายห้องสมุดออนไลน์ ไฮบรารี่ แก่สำนักงาน กศน. กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพด้านการศึกษาของประชาชนอย่างทั่วถึง โดยหน่วยงานได้เห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ที่จะได้รับจากนวัตกรรมฯ ดังกล่าว จึงได้มีการรับมอบและทดลองใช้นวัตกรรมเครือข่ายห้องสมุดออนไลน์ ไฮบรารี่ เป็นโครงการต้นแบบที่ศูนย์การเรียนรู้วังจันทรเกษม สถาบันส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ (สพร.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย กระทรวงศึกษาธิการ โดยเปิดให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงานกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงนักเรียน นักศึกษา และประชาชนบริเวณใกล้เคียงได้ร่วมทดลองใช้ ซึ่งจะมี e-Book ให้อ่านฟรี มากถึง 1,500 รายการ และคาดว่าจะมีผู้ใช้งานมากถึง 3,000 คน
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน