วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 16.00 น. นายสุรสิทธิ์ จันอุทา นายอำเภอพรหมบุรี เป็นประธานพิธีเปิดงานประเพณีกำฟ้า ประจำปี 2565 ณ วัดกุฏีทอง ตำบลบางน้ำเชี่ยว จังหวัดสิงห์บุรี โดยมีนางสมปอง คำแย้ม นายกเทศมนตรีตำบลบางน้ำเชี่ยว ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น ส่วนราชการ และประชาชนตำบลบางน้ำเชี่ยว ร่วมกันจัดงานประเพณีกำฟ้า ประจำปี 2565 จำนวน 2 วัน คือวันที่ 3 และวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 ภายในงานมีกิจกรรมสาธิตการเผาข้าวหลาม การตักบาตรข้าวหลาม การบวงสรวงเทพยดา รำถวายฟ้า การไหว้ศาลคุณตาคุณยายซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของคนในชุมชน
สำหรับประเพณีกำฟ้า เป็นประเพณีสำคัญที่ซาวไทยพวน ได้ยึดถือปฏิบัติต่อเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ คำว่า “ประเพณีกำฟ้า” มีความหมายในภาษาพวน คำว่า “กำ” หมายถึงการนับถือสักการะ คำว่า “ฟ้า” หมายถึงเจ้าฟ้า เจ้าแผ่นดิน หรือผู้ที่สูงเทียมฟ้า คือเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่อาจมองเห็นได้ คำว่า “กำฟ้า” หมายถึงการนับถึงฟ้า สักการะบูชาฟ้า เป็นงานบุญพื้นบ้านอย่างหนึ่งของชาวไทยพวน โดยเชื่อกันว่า เมื่อได้มีการทำบุญประกอบพิธีกรรมตั้งบายศรีและประกาศขอพรจากเทวดาผู้รักษาฟากฟ้าแล้วเทวดาจะบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลสาเหตุที่เกิดประเพณีกำฟ้า เพราะชาวไทยพวนมีอาชีพทำนาจึงมีวิถีชีวิตผูกพันกับฟ้า ไม่กล้าทำให้ฟ้าพิโรธ เพราะกลัวว่าฝนฟ้าจะไม่ตกต้องตามฤดูกาล ทำพิธีเพื่อให้ผีฟ้าเทวดามีความพึงพอใจ ทั้งยังเป็นการแสดงความขอบคุณผีฟ้าที่ประทานฝน ให้ตกต้องตามฤดูกาลซึ่งหมายถึงความชุ่มชื้น ความอุดมสมบูรณ์ ความมีชีวิตของคน สัตว์ และพืชต่างๆ จึงเกิดเป็นประเพณีกำฟ้าขึ้น
กชกร พวยไพบูลย์ จ.สิงห์บุรี
ภาพ/ข่าว