สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ก็คงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ยอดผู้ป่วยโดยรวมทั่วโลกเพิ่มขึ้น หลายประเทศทั่วโลกขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ แต่ท่ามกลางวิกฤติ ก็มีนวัตกรรมการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์เกิดขึ้นเช่นกัน รองศาสตราจารย์ ดร.สัญชัย พยุงภร และคณะ ได้คิดค้น ชุดตรวจคัดกรอง “โควิด-19 สแกน” โดยใช้เทคนิค RT-RPA และ CRISPR-Cas12a ในการตรวจ หากพบสารพันธุกรรมที่จำเพาะต่อเชื้อ SARS-CoV2 จะเกิดการเรืองแสง ก็จะสามารถตรวจวัดได้ด้วยโทรศัพท์มือถือที่มีโปรแกรมในการประมวลผลอย่างรวดเร็วด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ประสิทธิภาพในการตรวจเทียบเท่าวิธีมาตรฐานสากล
รองศาสตราจารย์ ดร.สัญชัย พยุงภร อาจารย์ประจำคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า นวัตกรรมชุดตรวจคัดกรอง “โควิด-19 สแกน” มีราคาไม่แพง เครื่องมือไม่ซับซ้อน ใช้งานง่าย สามารถตรวจคัดกรองนอกสถานที่ อีกทั้งได้รับการประเมินรับรองและอนุญาตให้ผลิต จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เลขที่ T6400049 จึงมีประโยชน์ในการตรวจคัดกรองเชิงรุกอย่างแพร่หลายทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งส่งผลให้สามารถควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนประกอบของนวัตกรรมชุดตรวจคัดกรอง “โควิด-19 สแกน”ประกอบด้วย ชุดน้ำยาโควิด-19 สแกน ที่มีประสิทธิภาพ (ความแม่นยำ 98.78%) ใกล้เคียงกับ Real-time PCR ที่เป็นเทคนิคมาตรฐาน และโทรศัพท์มือถือที่มีโปรแกรมประมวลผลได้อย่างรวดเร็ว ส่วนวิธีการใช้ เริ่มจากเก็บตัวอย่างน้ำลาย แล้วสกัด RNA ด้วยวิธีที่เหมาะสม ต่อมาแปลงสารพันธุกรรมจาก RNA เป็น cDNA ด้วยวิธี Reverse transcription และเพิ่มจำนวนสารพันธุกรรมแบบ isothermal amplification ด้วยวิธี recombinase polymerase amplification (RPA) จากนั้นตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัส SARS-CoV-2 ได้อย่างจำเพาะด้วยระบบ CRISPR-Cas12a
หากตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้อ SARS-CoV-2 จะเกิดการเรืองแสง (fluorescence) ซึ่งสามารถตรวจวัดได้โดยการใช้โทรศัพท์มือถือ ที่ติดตั้งระบบให้สัญญาณแสง จากนั้นถ่ายรูปการเรืองแสงด้วยโทรศัพท์มือถือที่มีโปรแกรม ในการส่งรูปไปประมวลผลในระบบฐานข้อมูล แล้วสรุปผลการตรวจกลับมาแสดงผลในหน้าจอของโทรศัพท์มือถือ และส่งผลไปยัง E-mail ของผู้ปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็ว
รองศาสตราจารย์ ดร.สัญชัย พยุงภร อาจารย์ประจำคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเพิ่มเติมว่า นวัตกรรมชุดตรวจคัดกรอง “โควิด-19 สแกน” ได้นำไปทดลองใช้งานจริง ในรถพระราชทาน (รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ) สำหรับการคัดกรองเชิงรุกในชุมชนจุฬาฯ นอกจากนี้ มีหน่วยงานอื่นๆ เช่น ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย และ หน่วยโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กลุ่มงานทันตกรรม โรงพยาบาลสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ และหน่วยทันตกรรม โรงพยาบาลสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ได้นำไปใช้เพื่อตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 ผลปรากฏว่าชุดตรวจ “โควิด-19 สแกน” สามารถช่วยในการตรวจคัดกรองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ตอนนี้ความพร้อมของนวัตกรรมชุดตรวจคัดกรอง “โควิด-19 สแกน” อยู่ในระดับ TRL-9 โดยได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ บริษัทไมโคร อินเจคชั่น จำกัด เป็นผู้ผลิตชุดตรวจคัดกรอง “โควิด-19 สแกน” เพื่อใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ต่อไป ทั้งนี้โรงพยาบาล หน่วยงานทางการแพทย์ หรือบริษัทที่สนใจชุดตรวจคัดกรอง “COVID-19 SCAN” โปรดสอบถามรายละเอียดได้ที่ http://www.covidscan.tech/ หรือติดต่อ บริษัท ไมโคร อินเจคชั่น จำกัด อีเมล covid19scan@bkf.co.th
สำหรับ นวัตกรรมชุดตรวจคัดกรอง “โควิด-19 สแกน” ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดีมาก ประจำปี 2565 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2565
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน