ข่าว 5 เหล่าทัพฉบับภูมิภาคหนังสือพิมพ์กองทัพข่าวภูมิภาคออนไลน์ทั่วไทย
เป็นวันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชาแห่งกรุงหงสาวดี
เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๑๓๕
น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้
ข้าพระพุทธเจ้า นายธนกร ศรีสุวรรณ
ป.ล. หลังจากที่พระมหาอุปราชาแตกทัพกลับไปครั้งก่อน เมื่อปี พ.ศ.๒๑๓๓ ทำให้พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงทรงพระวิตกยิ่งนัก เพราะว่าพม่าเสียทั้งรี้พลและอำนาจ เป็นเหตุให้เมืองขึ้นต่างๆ ของพม่าเกิดความเคลื่อนไหวที่จะแข็งเมืองต่อกรุงหงสาวดี การที่จะรักษาอำนาจของกรุงหงสาวดีไว้ได้ก็ต้องเอาชนะกรุงศรีอยุธยาให้ได้ พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงจึงให้พระมหาอุปราชายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง ในปี พ.ศ.๒๑๓๕
ตามพงศาวดารกล่าวไว้ว่า พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงได้เรียกประชุมเหล่าขุนนางที่ท้องพระโรง แล้วตรัสตัดพ้อว่า “ทุกวันนี้ทั้งเจ้าทั้งขุนนางไม่มีใครเจ็บร้อนเรื่องเมืองไทยบ้างเลย พระนเรศวรมีรี้พลเพียงหยิบมือเดียว ก็ไม่มีใครจะกล้าไปรบพุ่ง นี่เมืองหงสาวดีของเราจะหมดสิ้นคนดีเสียแล้วหรืออย่างไร” ขุนนางคนหนึ่งชื่อว่า พระยาลอ จึงกราบทูลว่า “กรุงศรีอยุธยานั้นสำคัญที่พระนเรศวรพระองค์เดียว เพราะกำลังหนุ่มรบพุ่งเข้มแข็ง ทั้งบังคับบัญชาผู้คนก็สิทธิ์ขาด รี้พลทั้งนายไพร่กลัวพระนเรศวรเสียยิ่งกว่ากลัวความตาย เจ้าให้รบพุ่งอย่างไรก็ไม่คิดแก่ชีวิตด้วยกันทั้งนั้น คนน้อยจึงเหมือนกับคนมาก เจ้านายในกรุงหงสาวดีรุ่นเดียวกับพระนเรศวรที่ทำสงครามเข้มแข็งเคยชนะศึกเหมือนอย่างพระนเรศวรก็มีหลายพระองค์ ถ้าโปรดให้จัดกองทัพให้เป็นหลายทัพ แล้วทรงเลือกเหล่าเจ้านายที่เข้มแข็งในการศึกให้เป็นนายทัพ ยกไปช่วยกันรบก็เห็นจะเอาชัยชนะได้” พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงได้ทรงฟังพระยาลอกราบทูลแนะนำให้แต่งตั้งเจ้านายทั้งหลายไปทำศึกกับกรุงศรีอยุธยาก็เห็นชอบด้วย จึงทรงแต่งตั้งเจ้านายทั้งหลายให้ไปช่วยกันทำศึก และมีรับสั่งให้พระมหาอุปราชาจัดเตรียมกองทัพเพื่อที่จะยกทัพไปตีกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง พระมหาอุปราชากราบทูลว่า “โหรทำนายว่าชันษาของตนมีเคราะห์ร้ายนัก” พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงจึงตรัสประชดว่า “พระมหาธรรมราชาไม่เสียแรงมีโอรสล้วนแต่เชี่ยวชาญกล้าหาญในศึก มิเคยย่อท้อต่อการสงคราม ไม่เคยพักให้พระราชบิดาใช้เลย กลับต้องคอยห้ามเสียอีก และถ้าเจ้ากลัวเคราะห์ร้ายนัก ก็อย่าไปรบเสียเลย จงเอาผ้าสตรีมานุ่งเสียเถิดจะได้สิ้นเคราะห์” พระมหาอุปราชาได้ยินดังนั้นก็เกิดความอัปยศอดสู จึงกราบทูลขอรับอาสายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง
สงครามครั้งนั้น ทางพม่าเกณฑ์กองทัพ ๓ ทัพ คือ ๑. กองทัพหงสาวดี ให้มางจาชโร เจ้าเมืองจาปะโรเป็นทัพหน้า พระมหาอุปราชาเป็นทัพหลวง โดยให้ยกทัพเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ , ๒. กองทัพเมืองแปร ให้พระเจ้าแปรเป็นนายทัพ และ ๓. กองทัพเมืองตองอู ให้นัดจินหน่องเป็นนายทัพ โดยให้ทัพเมืองแปรและตองอูยกทัพเข้ามาทางด่านเเม่ละเมา รวมกำลังพลทั้งสิ้น ๒๔๐,๐๐๐ คน นอกจากนั้น มีรับสั่งให้พระเจ้าเชียงใหม่ยกกองทัพเมืองเชียงใหม่ตามลงมาสมทบด้วยอีกกองทัพหนึ่ง
กองทัพพระมหาอุปราชายกออกจากกรุงหงสาวดีเมื่อวันพุธ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะโรง พ.ศ.๒๑๓๕ ครั้งนั้นพระมหาอุปราชาทรงพระคชาธารนามว่า “พลายพัทธกอ” ส่วนมางจาชโร เจ้าเมืองจาปะโรทรงช้างนามว่า “พลายพัชเนียง” โดยเดินทัพมุ่งหน้าลงมายังด่านเจดีย์สามองค์ และกองทัพพระมหาอุปราชาได้ยกเข้ามาถึงด่านเจดีย์สามองค์ก่อนกองทัพที่จะยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมาและกองทัพที่จะยกลงจากเมืองเชียงใหม่อีกด้วย
กองทัพพระมหาอุปราชา เมื่อยกทัพเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์แล้ว ก็เดินทัพต่อไปอย่างไม่เร่งรีบและไม่ประมาท เมื่อยกทัพล่วงเข้ามาถึงตำบลไทรโยค ก็สั่งให้ตั้งค่ายแล้วปรึกษาแผนการที่จะบุกเข้าตีเมืองกาญจนบุรี จากนั้นจึงเคลื่อนทัพต่อไป เมื่อยกทัพล่วงเข้ามาถึงลำตะเพิน ก็สั่งให้พระยาจิตตองคุมพลสร้างสะพานเรือกเพื่อใช้ข้ามลำน้ำสายนี้ แล้วจึงเคลื่อนทัพต่อไปยังตัวเมืองกาญจนบุรี เมื่อยกทัพเข้าตัวเมืองกาญจนบุรีได้แล้วก็พักทัพอยู่ ๑ คืน แล้วจึงเคลื่อนทัพต่อไปยังเมืองสุพรรณบุรี เมื่อยกทัพออกมาจากตัวเมืองกาญจนบุรีแล้ว ก็เห็นว่าไม่มีกองทัพไทยไปขัดตาทัพเลย จึงเดินทัพล่วงเข้ามาได้เรื่อยๆ ตามลำดับ
ฝ่ายกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่กองทัพพระมหาอุปราชาแตกพ่ายกลับไปเมื่อครั้งก่อน สมเด็จพระนเรศวรทรงประเมินสถานการณ์ว่าไทยคงจะว่างศึกไปสักปีสองปี เพราะพม่าบอบช้ำจากการทำศึกในครั้งก่อนเป็นอย่างมาก ต้องใช้เวลาฟื้นฟูเป็นเวลานาน ดังนั้นในปีมะโรง พ.ศ.๒๑๓๕ ทรงวางแผนการรบที่จะยกทัพไปตีเมืองละแวก เนื่องจากในระหว่างที่ไทยทำศึกติดพันอยู่กับพม่านั้น เขมรจะฉวยโอกาสเข้ามาซ้ำเติมไทยอยู่หลายครั้ง ครั้นถึงเดือนอ้าย ปีมะโรง พ.ศ.๒๑๓๕ พระองค์ทรงให้มีท้องตราไปเกณฑ์ทัพหัวเมืองเพื่อจะยกทัพไปตีเมืองละแวก กำหนดให้ยกทัพไปในเดือนยี่ พอมีท้องตราไปได้ ๖ วัน ครั้นถึงวันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือนอ้าย ก็ได้รับใบบอกจากเมืองกาญจนบุรีว่า พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงให้พระมหาอุปราชายกกองทัพเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ และได้ข่าวมาจากหัวเมืองเหนือว่า มีกองทัพข้าศึกยกลงอีกทางหนึ่ง
สมเด็จพระนเรศวรทรงเห็นว่ากองทัพข้าศึกยกลงมาสองทาง ถ้าปล่อยให้ยกทัพมาสมทบกันได้ ก็จะทำให้ข้าศึกมีกำลังมากขึ้น เมื่อกองทัพพระมหาอุปราชายกทัพเข้ามาก่อน จึงจะต้องชิงตีให้แตกพ่ายเสียก่อน ดังนั้น จากการเตรียมประชุมพลที่ทุ่งบางขวด เพื่อเตรียมยกทัพไปตีเมืองละแวกก็เปลี่ยนมาเป็นประชุมพลที่ทุ่งป่าโมก แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ อันเป็นเส้นทางร่วมที่จะยกทัพไปเมืองสุพรรณบุรีและหัวเมืองเหนือได้ทั้งสองทาง แล้วให้เร่งเตรียมรี้พล พาหนะและเสบียงอาหารให้พร้อมสรรพโดยเร็ว
ในระหว่างนั้น สมเด็จพระนเรศวรทรงมีรับสั่งให้พระอมรินทรฤาไชย เจ้าเมืองราชบุรี คุมพล ๕๐๐ คน จัดกำลังเป็นกองโจรออกไปซุ่มซ่อนคอยตีตัดเส้นทางลำเลียงและรื้อสะพานทางเดินทัพของข้าศึกอยู่ข้างหลัง แล้วให้พระยาศรีไสยณรงค์เป็นนายทัพ พระยาราชฤทธานนท์เป็นยกกระบัตร คุมกองทัพหัวเมืองไปตั้งขัดตาทัพสกัดข้าศึกอยู่ที่ลำน้ำท่าคอย แขวงเมืองสุพรรณบุรี เมื่อเตรียมกองทัพหลวงเสร็จแล้ว พอถึงวันขึ้น ๙ ค่ำ เดือนยี่ สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถก็เสด็จโดยกระบวนเรือพระที่นั่งออกจากพระนครไปทำพิธีตัดไม้ข่มนามที่ทุ่งลุมพลี แล้วจึงเสด็จไปตั้งทัพชัย ณ ตำบลมะม่วงหวาน ประทับแรมจัดกระบวนทัพอยู่ ๓ คืน และในขณะที่สมเด็จพระนเรศวรประทับอยู่ที่ค่ายหลวงตำบลมะม่วงหวาน ก่อนวันที่จะเสด็จยกกองทัพไปเมืองสุพรรณบุรี ในตอนกลางคืน ขณะทรงบรรทม พระองค์ทรงพระสุบินนิมิตว่า “มีน้ำท่วมป่าหลากมาแต่ทางทิศตะวันตก พระองค์เสด็จลุยน้ำไปพบจระเข้ใหญ่ตัวหนึ่ง จึงได้เข้าต่อสู้กัน พระองค์ทรงใช้พระแสงดาบประหารจระเข้ใหญ่นั้นจนสิ้นชีวิต ทันใดนั้นสายน้ำก็เหือดแห้งไป” พอตื่นบรรทมก็ทรงมีรับสั่งให้โหรทำนายพระสุบินนิมิตนั้นทันที พระโหราธิบดีกราบทูลพยากรณ์ว่า “เสด็จยกทัพไปคราวนี้จะได้รบพุ่งกับข้าศึกเป็นมหายุทธสงคราม ถึงขั้นได้ทำยุทธหัตถีและจะมีชัยชนะเหนือข้าศึก” พอถึงวันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือนยี่ เมื่อใกล้ฤกษ์ยกทัพไปยังเมืองสุพรรณบุรี สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จไปยังเกยทรงช้างพระที่นั่งเพื่อรอคอยฤกษ์เคลื่อนทัพหลวงอยู่นั้น ทันใดนั้นเอง ทั้งสองพระองค์ทอดพระเนตรเห็นพระบรมสารีริกธาตุขนาดเท่าผลส้มเกลี้ยง ส่องแสงเรืองอร่ามลอยมาในท้องฟ้าทางทิศใต้ แล้วลอยวนรอบกองทัพเป็นทักษิณาวรรต ๓ รอบ แล้วลอยวนขึ้นไปทางทิศเหนือ ทั้งสองพระองค์ทรงปิติยินดีตื้นตันพระทัยยิ่งนัก ทรงนมัสการและอธิษฐานให้พระบรมสารีริกธาตุนั้น บันดาลให้พระองค์และกองทัพไทยรบชนะข้าศึก จากนั้น สมเด็จพระนเรศวรทรงช้างพระที่นั่งนามว่า “เจ้าพระยาไชยานุภาพ” ส่วนสมเด็จพระเอกาทศรถทรงช้างพระที่นั่งนามว่า “เจ้าพระยาปราบไตรจักร” แล้วก็เสด็จยกกองทัพหลวงซึ่งมีกำลังพล ๑๐๐,๐๐๐ คน ออกจากทุ่งป่าโมกไปเมืองสุพรรณบุรีผ่านทางบ้านสามโก้ ข้ามลำน้ำสุพรรณที่ท่าท้าวอู่ทองไปถึงค่ายหลวงที่หนองสาหร่าย ริมลำน้ำท่าคอย เมื่อวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือนยี่
ฝ่ายพระมหาอุปราชา เมื่อยกทัพล่วงเข้ามาได้ตามลำดับ จนมาถึงตำบลพนมทวนหรือบ้านทวน ในเวลาบ่าย ๓ โมง ก็ได้เกิดลมเวรัมภาพัดต้องเศวตฉัตรบนหลังช้างของพระมหาอุปราชาหักสะบั้นลง ทำให้พระมหาอุปราชาทรงตกพระทัยเป็นยิ่งนัก จึงมีรับสั่งให้โหรทำนาย โหรทราบถึงลางร้ายแต่ไม่กล้ากราบทูลคำทำนายตามความจริง จึงทำนายด้วยความเท็จว่า “หากเหตุการณ์เกิดขึ้นในระหว่างช่วงเช้าถึงเที่ยงก็จะเป็นลางร้าย แต่เหตุการณ์ของพระองค์เกิดขึ้นในช่วงบ่ายถือเป็นศุภนิมิตที่พระองค์จะทำศึกชนะอริราชศัตรูและเป็นนิมิตบ่งชี้ว่า พระราชบิดาจะเลื่อนพระองค์ให้ขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติครองกรุงหงสาวดีและพุกามประเทศทั้งผอง” เมื่อพระมหาอุปราชาได้ฟังคำทำนายแล้วก็ยังไม่ปักใจเชื่อ ก็ยังทรงหวั่นพระทัยเหมือนเดิม หลังจากนั้น พระมหาอุปราชาจึงยกทัพมาตั้งค่ายอยู่ที่ตำบลตระพังตรุ แขวงเมืองสุพรรณบุรี โดยพระมหาอุปราชาทรงให้ตั้งค่ายแบบดาวล้อมเดือน และเลือกที่ตั้งค่ายตรงชัยภูมินาคนาม แล้วสั่งให้สมิงจะคร้าน สมิงเป่อ สมิงซาม่วน คุมกองทัพม้าออกไปลาดตระเวนสืบข่าวกองทัพพม่าที่จะยกลงมาจากทางเหนือ และสืบข่าวว่า กองทัพไทยจะยกกองทัพออกไปคอยต่อสู้อยู่ที่ไหนบ้าง
ฝ่ายกองทัพม้าของข้าศึก ซึ่งเล็ดลอดเข้ามาสอดแนมจนถึงเขตกรุงศรีอยุธยา เมื่อรู้ว่าสมเด็จพระนเรศวรยกกองทัพออกไปแล้ว ก็รีบนำความไปทูลพระมหาอุปราชา ซึ่งในเวลานั้น พระมหาอุปราชาตั้งทัพอยู่ที่ตำบลตระพังตรุ แขวงเมืองสุพรรณบุรี ซึ่งอยู่ห่างจากหนองสาหร่ายที่กองทัพพระยาศรีไสยณรงค์ตั้งอยู่ระยะทาง ๓ วัน ครั้นพระมหาอุปราชาทราบข่าวว่า กองทัพที่สมเด็จพระนเรศวรยกไปมีจำนวนพลน้อยกว่า จึงปรึกษาแม่ทัพนายกองทั้งปวงและเห็นพ้องต้องกันว่า ควรจะเอากำลังคนมากเข้าทุ่มเทตีเสียให้แตกทีเดียว อย่าให้ทันตั้งมั่นได้ ถ้าได้ทีก็จะได้ติดตามตีเข้าไปให้ถึงกรุงศรีอยุธยา เมื่อเห็นพร้อมกันดังนี้ พระมหาอุปราชาจึงสั่งให้ยกทัพออกจากค่ายทัพที่ตำบลตระพังตรุ แขวงเมืองสุพรรณบุรีในทันที
ฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถ เมื่อเสด็จยกทัพมาถึงหนองสาหร่ายแล้ว สมเด็จพระนเรศวรจึงมีรับสั่งให้กองทัพพระยาศรีไสยณรงค์กับพระยาราชฤทธานนท์ซึ่งออกไปขัดตาทัพอยู่ก่อนที่ลำน้ำท่าคอย ให้เลื่อนออกไปขัดตาทัพอยู่ที่ดอนระฆัง เพื่อจะให้ลาดตระเวนสืบข่าวกองทัพข้าศึกที่จะยกทัพมา ส่วนกองทัพหลวงนั้นพอเสด็จไปถึงก็ให้ตั้งค่ายคูเตรียมกระบวนทัพที่จะรบกับข้าศึก ณ ค่ายหลวงหนองสาหร่าย ด้วยคาดว่าคงจะได้ปะทะกันในวันสองวันเป็นแน่ เพราะกองทัพของทั้งสองฝ่ายอยู่ใกล้กันมากแล้ว สมเด็จพระนเรศวรทรงจัดทัพเป็นกระบวนเบญจเสนา ๕ ทัพ ดังนี้
• ทัพที่ ๑ เป็นกองหน้า ให้พระยาสีหราชเดโชชัยเป็นนายทัพ พระยาพิชัยรณฤทธิ์เป็นปีกขวา พระยาวิชิตณรงค์เป็นปีกซ้าย
• ทัพที่ ๒ เป็นกองเกียกกาย ให้พระยาเทพอรชุนเป็นนายทัพ พระยาพิชัยสงครามเป็นปีกขวา พระยารามคำแหงเป็นปีกซ้าย
• ทัพที่ ๓ เป็นกองหลวง สมเด็จพระนเรศวรทรงเป็นจอมทัพ พร้อมด้วยสมเด็จพระเอกาทศรถ เจ้าพระยามหาเสนาเป็นปีกขวา เจ้าพระยาจักรีเป็นปีกซ้าย
• ทัพที่ ๔ เป็นกองยกกระบัตร พระยาพระคลังเป็นนายทัพ พระราชสงครามเป็นปีกขวา พระรามรณภพเป็นปีกซ้าย
• ทัพที่ ๕ เป็นกองหลัง พระยาท้ายน้ำเป็นนายทัพ หลวงหฤทัยเป็นปีกขวา หลวงอภัยสุรินทร์เป็นปีกซ้าย
และค่ายหลวงที่หนองสาหร่ายแห่งนี้ สมเด็จพระนเรศวรทรงให้ตั้งค่ายแบบกระบวนปทุมพยุหะ (รูปดอกบัว) และเลือกที่ตั้งค่ายตรงชัยภูมิครุฑนาม เพื่อข่มกองทัพข้าศึกซึ่งตั้งอยู่ในชัยภูมินาคนาม ตามตำราพิชัยสงคราม
ครั้นถึงวันแรม ๑ ค่ำ เดือนยี่ พระยาศรีไสยณรงค์ได้ส่งข่าวมากราบทูลว่า ข้าศึกยกกองทัพใหญ่พ้นบ้านจระเข้สามพันมาแล้ว สมเด็จพระนเรศวรจึงมีรับสั่งให้กองทัพทั้งปวงเตรียมตัวพร้อมรบกับข้าศึกในวันรุ่งขึ้น และมีรับสั่งให้พระยาศรีไสยณรงค์ยกทัพออกไปลาดตระเวนและหยั่งกำลังของข้าศึก ดูให้รู้เค้าเงื่อนว่ากระบวนทัพข้าศึกยกมาอย่างไร แล้วให้ถอยกลับมา
เช้าของวันจันทร์ แรม ๒ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง จุลศักราช ๙๕๔