นักศึกษาพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นพรัตน์วชิระ คิดค้นนวัตกรรมเครื่องนวดกดจุดสะท้อนฝ่าเท้าลดความอยากบุหรี่ สำเร็จที่แรกของไทย กระตุ้นการเลิกบุหรี่ ผ่อนคลายความเครียด คว้าเหรียญเงิน ประกวดนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564
ภาวะเสพติดการสูบบุหรี่ เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของคนทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด เป็นลำดับต้นๆ ของเอเชีย มีอัตราผู้สูบบุหรี่เพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ปี ส่งผลให้ระบบสาธารณสุขและบุคลากรของประเทศต้องเตรียมรับมือมากยิ่งขึ้น นวัตกรรมด้านสาธารณสุข สุขภาพและเทคโนโลยีทางการแพทย์ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความเป็นอยู่ของประชากร
นายพงษ์พร จ่ายยัง นักประดิษฐ์คิดค้นเครื่องนวดฯ เปิดเผยว่า ทีมนักประดิษฐ์ได้คิดค้นนวัตกรรมเครื่องนวดกดจุดสะท้อนฝ่าเท้าขึ้น ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2563 โดยมีกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้งาน คือ ประชาชนทั่วไป อายุตั้งแต่ 18-60 ปี ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ เริ่มต้นโดยใช้วัสดุอุปกรณ์ใกล้ตัว ราคาไม่แพง นับเป็นผู้ประดิษฐ์รายแรกของไทยที่ทำได้สำเร็จ โดยผลการวิเคราะห์การใช้งานนวัตกรรม จากการวัดค่าคะแนน พบว่า ด้านความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ทั้งก่อนและหลังการใช้เครื่องนวดฯไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ด้านพฤติการณ์ที่เปลี่ยนไปหลังจากใช้เครื่องนวดกดจุดสะท้อนฝ่าเท้า พบว่า สามารถช่วยย่นเวลาการสูบบุหรี่มวนแรกได้ 2-3 ชั่วโมง หรือ สูบได้ไม่เกิน 10 มวนต่อวัน
นอกจากนี้ผู้ใช้งานยังรู้สึกผ่อนคลาย และไม่เคร่งเครียดกับการเลิกสูบบุหรี่มากเกินไป ถือเป็นวิธีการกระตุ้นและสนับสนุนให้สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จ ในอนาคตจะส่งต่อการพัฒนานวัตกรรมให้กับนักประดิษฐ์รุ่นต่อๆ ไป เพื่อพัฒนาด้านมาตรฐาน และนวัตกรรมให้มีขนาดเล็กลง สามารถใช้งานได้อย่างกว้างขวาง และมีประสิทธิภาพสูง
สำหรับกระบวนการ การทำงานของเครื่องนวดฯ จะใช้เวลา 10 นาทีในการนวดแต่ละครั้ง โดยนวดติดต่อกัน 10 วัน เครื่องนวดฯใช้กำลังไฟต่ำ และมีระบบตัดไฟเพื่อความปลอดภัย ทำงานกดจุดสะท้อนฝ่าเท้า บริเวณนิ้วหัวแม่เท้า จนเกิดกระบวนการสะท้อนไปยังสมอง เพื่อกระตุ้นการหลั่งสารโดปามีน (Dopamine) สารแห่งความสุข (Endorphin) ช่วยให้การรับรู้กลิ่นและรสบุหรี่ที่ผิดแปลกไปจากเดิม เช่น กลายเป็นรสจืดหรือขม มีกลิ่นเหม็น ซึ่งนวัตกรรมมีความแตกต่างจากเครื่องนวดอื่นๆ ตรงที่ไม่จำเป็นต้องมีผู้นวด สามารถนวดได้ตรงจุด แม่นยำ ด้วยแรงกดที่สม่ำเสมอ ประหยัดเวลาและสามารถใช้งานได้ทุกที่
นางสาวพรรณิภา มนตรี สมาชิกทีมนักประดิษฐ์ กล่าวเสริมว่า “ในยุคปัจจุบัน คนส่วนใหญ่ต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น ไม่ซับซ้อน อีกทั้งแนวโน้มของผู้สูบบุหรี่มีจำนวนมากขึ้น ปัจจุบันมีหลายแนวทางที่สนับสนุนการเลิกบุหรี่ แต่อาจจะไม่ได้สะดวกหรือเอื้อต่อพฤติกรรมของผู้สูบมากพอ เช่น วิธีการรับประทานน้ำสมุนไพร หรือใช้สารนิโคตินทดแทน ซึ่งยังมีข้อจำกัดและผลข้างเคียง นวัตกรรมเครื่องนวดกดจุดสะท้อนฝ่าเท้า จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่สามารถลดความอยากบุหรี่ได้จริง อันเป็นการสนับสนุนให้คนเลิกหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสูบบุหรี่ได้ ซึ่งผลงานยังได้รับรางวัลชมเชย (เหรียญเงิน) จากเวทีประกวดนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 (Thailand Research Expo 2021) อีกด้วย
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า (วช.) ให้ความสำคัญต่อการสร้างนักวิจัยและนักประดิษฐ์ เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพขีดความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในสถาบันการศึกษา โดยส่งเสริมและถ่ายทอดองค์ความรู้ ทักษะและเทคนิคด้านนวัตกรรม กระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้เกิดความเข้าใจและเห็นความสำคัญของการวิจัยและพัฒนา อันเป็นการสร้างและพัฒนาเยาวชนให้เป็นนักวิจัยและนักประดิษฐ์ที่มีคุณภาพ มีศักยภาพในการเติบโตเป็นบุคลากรทางการวิจัยของประเทศต่อไปได้ สำหรับนวัตกรรมเครื่องนวดกดจุดสะท้อนฝ่าเท้า นับเป็นผลงานสร้างสรรค์ โดยนักเรียน นักศึกษารุ่นใหม่ ที่มีความสนใจแก้ไขปัญหาของประเทศด้วยวิจัยและนวัตกรรม (วช.) จึงได้มอบรางวัลแก่ทีมวิจัยในครั้งนี้
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน