หลี่ เค่อเฉียง นายกฯจีน ร่วมประชุมการค้าระหว่างประเทศ “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค” (“区域全面经济伙伴关系协定” / “Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP”)
นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้ (日前,国务院总理李克强主持召开国务院常务会议) เพื่อกำหนดมาตรการปรับตามวัฏจักรในการส่งเสริมการพัฒนาการค้าต่างประเทศอย่างมีเสถียรภาพ รวมทั้งเตรียมการสำหรับการดำเนินการตาม “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค” (“区域全面经济伙伴关系协定” / “Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP”) หลังจากที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ ๑ ม.ค.๖๕ โดยที่ประชุมชี้ให้เห็นว่า
๑. การเติบโตอย่างรวดเร็วของประเทศจีนในด้านการนำเข้าและส่งออกในปีนี้มีส่วนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ อย่างไรก็ตาม การค้าต่างประเทศในปัจจุบันกำลังเผชิญกับปัจจัยที่ไม่แน่นอน ไม่เสถียร และไม่สมดุลเพิ่มมากขึ้น จำเป็นต้องดำเนินการตามข้อตกลงของคณะกรรมการกลางพรรคและคณะรัฐมนตรี โดยขยายการเปิดกว้างเพิ่มเติมตามข้อกำหนดของการประชุมเศรษฐกิจกลาง กำหนดมาตรการเพื่อดำเนินการปรับปรุงแบบข้ามวัฏจักรเศรษฐกิจและช่วยบรรเทาปัญหาที่วิสาหกิจเผชิญอยู่
๒. มุ่งเน้นการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พยายามรักษาคำสั่งซื้อทางธุรกิจ และความคาดหวังของตลาด สนับสนุนการเติบโตอย่างต่อเนื่องของการค้าต่างประเทศ จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการต่าง ๆ ดังนี้
๒.๑ จะให้การสนับสนุนการนำเข้าและส่งออกเชิงนโยบายมากขึ้น ดำเนินการตามมาตรการลดภาษีและค่าธรรมเนียม การขอคืนภาษีส่งออกจะได้รับการดำเนินการเร็วขึ้น ระยะเวลายื่นขอคืนภาษีส่งออกจะลดลงเหลือไม่เกิน ๖ วันทำการ จะต้องแนะนำให้ธนาคารพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ตามความต้องการของผู้ประกอบการการค้าต่างประเทศ อัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนจะมีเสถียรภาพโดยพื้นฐาน และสนับสนุนธนาคารดำเนินการบริการรับซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า เพื่อให้ผู้ประกอบการการค้าต่างประเทศมีความยืดหยุ่นมากขึ้นต่อความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงื่อนไขการรับประกันภัยและชำระเบี้ยสินเชื่อส่งออกจะได้รับการปรับปรุงดีขึ้น จะเพิ่มการสนับสนุนแก่วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย ในการค้าต่างประเทศและต้านความเสี่ยงจากการยกเลิกคำสั่งซื้อก่อนจัดส่ง โครงการความร่วมมือและการจับคู่ระหว่างภาคตะวันออกกับภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะลงลึกมากขึ้น จะสนับสนุนการโยกย้ายถิ่นฐานและการโอนการค้าแปรรูปไปยังพื้นที่อื่น และพยายามดำเนินการนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ให้ดี
๒.๒ ส่งเสริมการพัฒนาการค้าต่างประเทศในรูปแบบใหม่ เช่น อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน จะมีการตั้งเขตนำร่องแบบบูรณาการสำหรับอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนมากขึ้น และพัฒนากลุ่มเมืองที่เป็นศูนย์กลางการค้านอกชายฝั่ง สนับสนุนการพัฒนาและการใช้คลังสินค้าในต่างประเทศมากขึ้นตามกลไกตลาด จะปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพบัญชีรายชื่อสินค้านำเข้าขายปลีกผ่านอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน และเพิ่มหมวดหมู่ของสินค้านำเข้าให้มีความหลากหลายยิ่งขึ้น
๒.๓ ปรับปรุงการบริการสำหรับวิสาหกิจให้ดีขึ้นและพยายามแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์สำหรับขายในประเทศและผลิตภัณฑ์ส่งออกผลิตใช้สายการผลิตเดียวกัน มีมาตรฐานเดียวกัน และคุณภาพเท่ากัน พร้อมทั้งขยายช่องทางการค้าและปรับปรุงห่วงโซ่อุปทานให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ในปี ๒๐๒๒ (พ.ศ.๒๕๖๕) การซื้อขายภายในประเทศของผู้ประกอบการการค้าแปรรูปจะได้รับการยกเว้นดอกเบี้ยภาษีเงินได้ที่ค้างชำระเป็นการชั่วคราว
๒.๔ จะพยายามบรรเทาแรงกดดันด้านโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ สนับสนุนบริษัทการค้าต่างประเทศทำสัญญาระยะยาวกับบริษัทการเดินเรือ จะใช้มาตรการปราบปรามตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่อพฤติกรรมละเมิดกฎหมายต่าง ๆ เช่น การเก็บค่าธรรมเนียมตามอำเภอใจและการปรับขึ้นราคาสินค้าหรือบริการในระดับที่ไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ยังจะสนับสนุนสถาบันการเงินจัดหาเงินทุนที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์แก่วิสาหกิจการค้าต่างประเทศขนาดย่อมและรายย่อยที่เข้าเงื่อนไข
๒.๕ สนับสนุนท้องที่ต่าง ๆ พัฒนาและปรับปรุงระบบตามสภาพความเป็นจริงและดำเนินการช่วยเหลือเชิงรุกในการปรับระบบการค้า เพื่อรักษาเสถียรภาพห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทาน
บทสรุป ที่ประชุมยังชี้ให้เห็นว่า ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ ๑ ม.ค.๖๕ ต้องสนับสนุนวิสาหกิจต่าง ๆ ในการรักษาโอกาสเพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ รวมทั้งยกระดับการค้าและการลงทุน ตลอดจนผลักดันการยกระดับอุตสาหกรรมภายในประเทศ
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
( ข้อมูลจากเว็บไซต์ http://www.gov.cn/xinwen/2021-12/23/content_5664167.htm )
นำเสนอ/รายงาน
ว่าที่ พันตรี กรพด รุ่งหิรัญวัฒน์
ตำแหน่ง เลขาธิการ
สถาบันศึกษาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโครงการเส้นทางสายไหม
28/12/2021