วันที่ 26 ธ.ค.64 ผู้สื่อข่าวมีรายงาน แหล่งข่าวจากสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวถึงกรณีที่สื่อมวลชนรายงานข่าว กรณีเครือข่ายพิทักษ์คุณธรรมมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ยื่นเรื่องต่อประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และอุปนายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ให้ตรวจสอบกรณี ปรากฎข้อมูลว่า นายสืบพงษ์ ปราบใหญ่ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง เคยได้รับการโอนที่ดิน 2 แปลงในพื้นที่จังหวัดนครนายก ต่อจากนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม หลังจากที่นายสุพจน์ฯ ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งข้อกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติ และเมื่อวันที่ 24 ธ.ค.64 ที่ประชุมกรรมการสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง มีมติให้ถอดถอนนายสืบพงษ์ฯ จากการดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยมีการแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทน
ส่วนหนึ่งของเนื้อหาของแถลงการณ์จากเครือข่ายฯระบุว่า “…อธิการบดีคนปัจจุบัน อาจเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายเนื่องจากได้รับโอนที่ดินจำนวน 2 แปลง ในพื้นที่ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก หลัง ป.ป.ช. ได้ตั้งข้อหาบุคคลผู้โอนทรัพย์สินนั้น ร่ำรวยผิดปกติ จึงอาจเข้าข่ายเป็นผู้สนับสนุน ทุจริตต่อหน้าที่ ด้วยการซุกซ่อน ปกปิดแหล่งที่มาทรัพย์สิน เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ไม่ว่าก่อน ขณะ หรือหลังกระทำความผิด มิต้องให้รับโทษหรือรับโทษน้อยลง ขณะเดียวกัน ที่ดินดังกล่าวยังได้ถูกศาลฎีกาพิพากษาให้ยึดทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 469/2561 จึงเห็นว่าการกระทำดังกล่าว อาจเข้าข่ายการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561…”นั้น
จากการตรวจสอบพบว่า ตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 ก.ย.64 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยนายสืบพงษ์ฯ ได้รับการสรรหามาปฏิบัติหน้าที่อธิการบดีคนปัจจุบัน และเมื่อรับตำแหน่งปรากฏว่า นายสืบพงษ์ฯ พยายามเลื่อนการประชุมสภามหาวิทยาลัยและบ่ายเบี่ยงการเรียกประชุมถึงสองครั้งโดยเหตุผลที่ให้ไม่มีน้ำหนักพอที่จะรับฟังได้ ทั้งๆ ที่กรรมการสภามหาวิทยาลัยได้พยายามใช้อำนาจตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยให้มีการเรียกประชุมเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่องานราชการ แต่นายสืบพงษ์ฯ ก็บิดพลิ้วมาโดยตลอด จนส่งผลกระทบต่อนักศึกษา บุคลากร หลักสูตรการเรียนการสอน รวมทั้งภารกิจต่างๆของมหาวิทยาลัยเป็นอย่างมาก
แหล่งข่าวกล่าวว่า “กรรมการสภามหาวิทยาลัยบางท่านเป็นผู้เสนอให้ถอดถอนนายสืบพงษ์ฯ จากการดำรงตำแหน่งอธิการบดี เพราะส่งผลกระทบในวงกว้างกับมหาวิทยาลัยและฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาอย่างละเอียด เห็นว่าหากให้นายสืบพงษ์ฯ อยู่ในตำแหน่งต่อไปอาจสร้างความเสียหายมากกว่านี้ นอกจากนั้น การปฏิเสธเรียกประชุมสภามหาวิทยาลัย ยังอาจเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ที่เข้าข่ายการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 อีกด้วย”
แหล่งข่าวกล่าวว่า ส่วนกระแสข่าวที่สื่อมวลชนนำเสนอเรื่องการโอนที่ดินระหว่างนายสุพจน์ฯ ไปยังนายสืบพงษ์ฯ นั้น ยอมรับว่าเป็นเรื่องจริงอีกเรื่องหนึ่ง โดยที่ประชุมกรรมการสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง เพิ่งทราบเรื่องนี้ และจะดำเนินการสอบสวน เพราะน่าจะขัดต่อพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2541 รวมทั้งข้อบังคับมหาวิทยาลัยรามคำแหง ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้บริหาร พ.ศ.2562 ในข้อ 6 และข้อ 7 หากเรื่องนี้เป็นจริงก็เท่ากับว่า นายสืบพงษ์ฯ ร่วมกันสนับสนุนการกระทำความผิดของนายสุพจน์ฯ ในครั้งนั้นด้วย
ผู้สื่อข่าวสอบถาม นายสืบพงษ์ฯ ระบุเพียงว่า การประชุมสภามหาวิทยาลัยรามคำเเหง เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.64 ตนเข้าร่วมประชุมด้วยเเต่เมื่อถึงวาระที่พิจารณาเรื่องของตน ตนถูกเชิญออกจากห้องประชุมจึงไม่ทราบรายละเอียดของมติที่ประชุม ตอนนี้ขอรอดูมติที่ประชุมดังกล่าวก่อน
“เเละตอนนี้ตนยังปฏิบัติหน้าที่อาจารย์ของมหาวิทยาลัยตามปกติ ส่วนการเคลื่อนไหวของบางกลุ่มที่จะเกิดขึ้นนั้นตนไม่ทราบรายละเอียด”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2541 มาตรา23 วรรคสาม บัญญัติว่า นอกจากการพ้นตำแหน่งตามวาระวรรคสอง อธิการบดีพ้นจากตำแหน่งเมื่อ 3)ถูกลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรง และ 6)สภามหาวิทยาลัยมีมติให้ถอดถอน โดยตอนนี้นายสืบพงษ์ฯ ได้ถูกถอดถอนแล้ว และสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง จะได้ดำเนินการสอบสวนในเรื่องอื่นๆ ที่มีการร้องเรียนต่อไป
สำหรับ นายสืบพงษ์ฯ ผ่านการสรรหาเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงคนที่ 10 โดยผ่านการสรรหาเมื่อวันที่ 22 ต.ค.63 และเมื่อวันที่ 15 ก.ย.64 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ตามมติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงครั้งที่ 15/2563 ให้นายสืบพงษ์ฯ ดำรงตำแหน่งอธิการบดี โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้นายสืบพงษ์ฯ ดำรงตำแหน่งดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 12 ก.ย.64
อนึ่ง อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง จะดำรงตำแหน่งวาระละสี่ปี และดำรงตำแหน่งไม่เกินสองวาระติดต่อกัน
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน