9 ต.ค. 59 – นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ ว่า ศาลอาญานัดวินิจฉัยกรณีอัยการสูงสุดกล่าวหากระทำผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีก่อการร้ายในวันที่ 11 ต.ค.นี้ แม้ส่วนตัวเชื่อมั่นไม่ได้ทำผิดตามข้อหา แต่ประสบการณ์ต่อสู้ในชั้นศาลมาตลอด 10 ปี จึงต้องเตรียมความพร้อมทุกอย่างไปฟังการตัดสินของศาล อัยการสูงสุดฝ่ายคดีพิเศษ ได้ยื่นคำร้องของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ต่อศาลอาญาเพื่อถอนประกันตัวแกนนำ นปช. 5 คน ซึ่งอ้างข้อหาระบุความผิดถึง 32 หน้า เชื่อมโยงเหตุการณ์แสดงความคิดเห็นออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์พีซทีวีตั้งแต่ปี 2558 มากล่าวโทษเป็นความผิดยุยง ปลุกปั่น ให้เกิดความวุ่นวาย แตกแยกในราชอาณาจักร โดยศาลนัดไต่สวนคำร้องเมื่อวันที่ 3 ต.ค. ที่ผ่านมา และนัดฟังคำวินิจฉัยในวันที่ 11 ต.ค.นี้
นายจตุพร กล่าวว่า ตนได้เตรียมตัวไปฟังคำตัดสินอย่างไม่ประมาท โดยตัดผมสั้น นำเครื่องใช้จำเป็นส่วนตัวไปด้วย แม้ผลลัพธ์จะเป็นเช่นไร แต่พวกตนพร้อมเผชิญหน้าอย่างไม่มีปัญหา การติดคุกและไม่ติดคุก มีทั้งดีและเสียแน่นอน หากการติดคุกเพื่อต้องการปิดปากไม่ให้พูดแล้ว คงไม่มีความหมายใดๆ เพราะยังมีคนอื่นอีกมากที่จะพูดในเรื่องราวอันเป็นปัญหาของบ้านเมือง และตนได้พูดในสิ่งที่อยากพูดไปหมดแล้ว ดังนั้น การถูกขังคุกจึงเป็นการต่อสู้อีกรูปแบบหนึ่ง แตกต่างกันเพียงเปลี่ยนที่อยู่ชั่วคราวเท่านั้น ส่วนหลายคนหวั่นกลัวจะถูกฆ่าในคุก ก็ยิ่งเป็นชนวนไปสู่ความขัดแย้งให้มากขึ้น
ทั้งนี้พวกตนเชื่อมั่นในความคิดเห็นที่พูดถึงปัญหาบ้านเมืองไม่ได้เป็นความผิดตามที่ถูกข้อหาถอนประกันตัว ถ้าข้อหายุยง ปลุกปั่นตั้งแต่ปี 2558 นั้น ถึงขณะนี้ได้พิสูจน์ชัดเจนแล้วว่า ยังไม่เคยปรากฏความ
วุ่นวายในราชอาณาจักรขึ้นเลย สิ่งนี้ย่อมสะท้อนความจริงที่เกิดขึ้นได้ อีกทั้งการกล่าวหาหมิ่นประมาทบุคคลอื่น คงไม่เกี่ยวกับการผิดเงื่อนไขปล่อยตัวชั่วคราวของศาล ควรใช้มาตรการฟ้องตามกฎหมายเล่นงานได้ ดังนั้น การนำข้อหาเช่นนี้มาเล่นงานพวกตน จึงไม่เกี่ยวข้องกับคดีก่อการร้ายจนต้องมายื่นถอนประกันตัว
“ ทั้งหมดนี้ ไม่ได้ตีตนไม่ก่อนไข้ แต่การถูกหลายคดี ต้องขึ้นศาลมาตลอด 10 ปี ย่อมทำให้คาดการณ์ได้ แม้ผมสูญสิ้นอิสรภาพ ถูกควบคุมตัวในคุก แต่จิตใจยังเหมือนเดิม ยังร่วมต่อสู้กับประชาชนเพื่อให้ประเทศได้ประชาธิปไตยอันถูกต้อง ” นายจตุพร กล่าว
นายจตุพร กล่าวถึงกรณีดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขียนบทความสอนลูกไม่ให้เผลอคิดว่าตัวเองเป็นคนดีเป็นอันขาดนั้น ตนเห็นด้วยและชื่นชมคำสอนลูก โดยตนเชื่อว่า วาทกรรมคนดีได้ครอบงำสังคมมาเนินนาน จนทำลายประเทศมามาก เพราะคนดีที่แอบอ้างกันนั้น ล้วนเกิดจากยกยอกันเองแต่อธิบายไม่ได้ว่า ดีอย่างไร แล้วใช้ประณามคนอื่นเลว เป็นคนชั่วต้องถูกกำจัด ซึ่งทัศนะคตินี้ขัดหลักจริยธรรม ธรรมาภิบาล ดังนั้น มาตรฐานคนดีจริงแล้ว จะไม่เป็นภาระของประเทศ
อย่างไรก็ตามบทเรียนอย่างหนึ่งของเหตุการณ์ 6 ตุลา คือ การสร้างความชิงชัง ปลุกระดมให้ฆ่านักศึกษาประชาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวหาเป็นคนเวียดนาม เป็นคอมมิวนิสต์ แล้วจับไปแขวนคอ และเผาทั้งเป็นที่สนามหลวง เหตุการณ์เช่นนั้น เกิดจากคนกลุ่มหนึ่งปลุกระดม โฆษณาชวนเชื่อ อ้างตัวเป็นคนดี แล้วประณามคนอื่นเป็นคนเลว คนชั่วที่ต้องถูกกำจัด ทำให้สังคมไทยจิตใจขาดความเป็นมนุษย์