ระหว่างวันที่ 18-20 ธันวาคม นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า นำคณาจารย์ และคณะนักศึกษาประกาศนียบัตรชั้นสูงเพื่อการเสริมสร้างสังคมสันติสุข (4ส) รุ่นที่ 12 ดูงานในพื้นที่จังหวัดน่าน เพื่อศึกษา “วิกฤตจากเขาหัวโล้น..สู่ป่ายั่งยืน”
วันแรก ที่ลานวัดอรัญญาวาส จัดเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ “ฮักเมืองน่าน” พลังจากศรัทธาและปัญญาท้องถิ่น โดยมี พระครูพิทักษ์นันทคุณ เจ้าอาวาสวัดอรัญญาวาส ซึ่งเป็นแกนนำที่ได้รวมกลุ่มเครือข่าย ในชื่อกลุ่ม “ฮักเมืองน่าน” เป็นกลุ่มองค์กรท้องถิ่นเมืองน่าน ที่สร้างกิจกรรมเพื่อการจัดการตนเองอย่างเข้มแข็งทั้งในด้านสังคม วัฒนธรรมและสภาพแวดล้อม โดยมีกลุ่มลูกหลานชาวบ้าน องค์กรพัฒนาเอกชน ข้าราชการในท้องถิ่น และหน่วยงานราชการที่สนใจในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ หลังพบความเสื่อมโทรมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะสามสิบปีที่ผ่านมา พื้นที่ดงดอยที่เคยเป็นป่าและแหล่งอาหาร ไม้ใหญ่ไม้เล็กถูกโค่นลง ป่าถูกถางจนเตียน จึงเกิดความคิดอยากจะฟื้นฟูจิตสำนึกชาวบ้านและฟื้นฟูสภาพป่า เริ่มต้นจากการจัดพิธีบวชป่าสืบชะตาแม่น้ำขึ้น ที่ป่าชุมชนบ้านกิ่วม่วง อำเภอสันติสุข เป็นครั้งแรกในจังหวัดน่าน
สำหรับเครือข่าย “ฮักเมืองน่าน” มีต้นกำเนิดที่วัด มีสมาชิกเป็นพระ เณร ครู หมอ ข้าราชการ นักพัฒนา ผู้นำชุมชน บุคคลทั่วไป แล้วขยายตัวไปทั่วทั้งจังหวัดน่าน เกิดความร่วมมือกันโดยเฉพาะเรื่องการรักษาป่า ก่อนจะมาเป็น “มูลนิธิฮักเมืองน่าน” ในภายหลัง มีอาสาสมัครเข้ามาร่วมทำงานอย่างต่อเนื่อง และได้รับความสนใจจากองค์กรต่างๆ มาเยี่ยมชมกิจกรรม โดยมี “ศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้” ที่พัฒนาทักษะการเกษตรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นศูนย์การทำงานของอาสาสมัครมูลนิธิฮักเมืองน่าน ที่สนับสนุนการเรียนรู้ของเครือข่ายครอบครัวชาวนา ที่เก็บรวบรวมพันธุ์ข้าว ผัก พื้นเมือง มีการผสมข้าวและคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่เหมาะสม
วันที่สอง ศึกษาเรียนรู้ “น้ำพางโมเดล” บทพิสูจน์ความยั่งยืนจากมือประชาชน เป็นโครงการนำร่องเพิ่มสิทธิของเกษตรกร เป็นชุมชนที่มีการบริหารจัดการในการใช้พื้นที่สีเขียว การทำเกษตรเชิงนิเวศ การแก้ไขปัญหาเขาหัวโล้น จากเกษตรกรที่เคยปลูกข้าวโพด จนส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ ได้กลับมาร่วมใจดูแลป่าธรรมชาติที่หมดสภาพให้กลับมาเป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์
“น้ำพางโมเดล” นำหลัก 4 ประการมาจัดการคือ “มีกิน” เพิ่มความมั่นคงทางด้านอาหาร “มีใช้” เพิ่มรายได้พัฒนาเศรษฐกิจที่มั้นคงในระยะยาว “มีสิ่งแวดล้อมที่ดี” เพิ่มพื้นที่สีเขียว และ ”มีกฏหมายและนโยบายที่เป็นธรรม” สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมภูมินิเวศและรูปแบบการผลิตที่ยั่งยืน
วันสุดท้าย รับฟังประเด็น วิกฤตชาวนาไร่ สู่พื้นที่การเกษตร เพื่อชีวิตที่ยั่งยืน และจากเขาหัวโล้น..สู่ป่ายั่งยืน โครงการ “น่านแซนด์บ๊อกซ์” เป็นการรักษาป่าต้นน้ำน่าน ของแม่น้ำสายหลักของชาติอย่างแม่น้ำเจ้าพระยา ที่กำลังถูกทำลาย เป็นการบริหารพื้นที่รูปแบบพิเศษ ในการแก้ปัญหาด้านที่ดินและป่าไม้ เพื่อให้ประชาชนสามารถอยู่อาศัยได้ถูกต้องตามกฎหมายและปรับคืนพื้นที่มาเป็นสภาพป่า อีกทั้งยังจัดหาเงินสนับสนุนการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตทางการเกษตรและการเลี้ยงชีพในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน กระทั่งถึงการปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรเชิงเดี่ยวสู่การผลิตหรืออาชีพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีรายได้เพียงพอและยกระดับคุณภาพชีวิต โดยมีการระดมองค์ความรู้จากทุกศาสตร์มาพัฒนาพืชทางเลือกที่มีคุณค่าและมูลค่าสูง เพื่อผลิตสินค้าการเกษตรที่มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาดโลก
นอกจากนี้ คณะนักศึกษาประกาศนียบัตรชั้นสูงเพื่อการเสริมสร้างสังคมสันติสุข (4ส) รุ่นที่ 12 ยังนำสื่อการเรียนการสอน และอุปกรณ์กีฬา อาทิ ชุดเครื่องเขียน หนังสือสารานุกรม ชุดกีฬา ลูกฟุตบอล จักรยาน ตุ๊กตา กระเป๋าพวงกุญแจ เสื้อกันหนาว หน้ากากอนามัย ยาฟ้าทลายโจร ปืนฉีดพ่นแอลกอฮอล์ พร้อมทุนการศึกษา และทุนฝึกอาชีพ แก่นักเรียนโรงเรียนน้ำพาง อ.แม่จริม
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน