(24 ธ.ค. 64) นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 64 เวลา 9.30 น. ที่ห้องพิจารณา 403 ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีอาญาหมายเลขดำที่ อ. 233/2564 ระหว่าง บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) โดยนายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้มีอำนาจโจทก์ กับนายวัชระ เพชรทอง จำเลย คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ และเป็นผู้รับจ้างก่อสร้างสัปปายะสภาสถาน (รัฐสภาแห่งใหม่) ให้แก่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ตามสัญญาก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่พร้อมอาคารประกอบ สัญญาเลขที่ 116/2556 ลงวันที่ 30 เม.ย. 56 ค่าก่อสร้าง 12,280 ล้านบาท ต่อมาเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 64 จำเลยได้หมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่ 3 โดยน่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ด้วยข้อความอันเป็นเท็จโดยวิธีการโฆษณา โดยจำเลยได้นำป้ายข้อความว่า “สัญญาก่อสร้าง 900 วัน ขยายเวลา 4 ครั้ง 1,864 วัน รวม 2,764 วัน ยังสร้างไม่เสร็จ บริษัทมีมาตรฐานหรือไม่” ขึ้นประกอบการแถลงข่าวต่อผู้สื่อข่าวที่รัฐสภา การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ข้อความที่ว่า “บริษัทมีมาตรฐานหรือไม่” เป็นตัวอักษรสีแดงเป็นการชี้นำให้ผู้ที่พบเห็นข้อความดังกล่าวเข้าใจว่าโจทก์ไม่มีมาตรฐานจึงขยายหลายครั้ง
ศาลพิเคราะห์ข้อความในส่วนดังกล่าว จะเห็นได้ว่าข้อความดังกล่าวเป็นประโยคคำถามในลักษณะเป็นการตั้งข้อสังเกตแต่เพียงเท่านั้น มิใช่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอย่างชัดเจนว่าโจทก์เป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่ไม่มีมาตรฐานจนเป็นเหตุให้ต้องขยายระยะเวลาก่อสร้างถึง 4 ครั้งแต่อย่างใด กรณีจึงยังมิอาจถือได้ว่าเป็นการใส่ความโจทก์ ประกอบกับข้อความที่ปรากฏในป้ายของจำเลยจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ ต้องพิจารณาตามความรู้สึกของวิญญูชนทั่วไปเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาว่าข้อความดังกล่าวถึงขั้นทำให้ผู้ถูกหมิ่นประมาทน่าจะเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังหรือไม่ มิใช่พิจารณาตามความรู้สึกของผู้ถูกหมิ่นประมาทแต่ฝ่ายเดียว เมื่อพิเคราะห์ข้อความที่ปรากฏในป้ายข้อความโดยรวมซึ่งเป็นข้อความที่มิได้ระบุหรือสื่อให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าโจทก์เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง อีกทั้งยังมีลักษณะเป็นเพียงตั้งคำถามเชิงสังเกตโดยปราศจากการยืนยันข้อเท็จจริงแน่ชัดดังที่ได้วินิจฉัยประกอบกับข้อความในส่วนที่ว่า “สัญญาก่อสร้าง 900 วัน ขยาย 4 ครั้ง 1,864 วัน รวม 2,764 วัน” นายสุทธิพล พัชรนฤมล (ผู้อำนวยการโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ของบริษัทซิโน-ไทยฯ) พยานโจทก์ก็เบิกความรับว่าเป็นความจริง ส่วนข้อความในส่วนที่ว่า “บริษัทมีมาตรฐานหรือไม่” แม้นายสุทธิพล จะเบิกความว่าการขยายระยะเวลาก่อสร้างเป็นคนละกรณีกับการที่โจทก์จะมีมาตรฐานหรือไม่ แต่ลำพังข้อความในส่วนดังกล่าวก็ยังไม่ถึงขนาดที่น่าจะทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ฟ้องโจทก์จึงยังไม่มีมูลที่จะประทับฟ้อง และเมื่อคดียังมิอาจประทับฟ้องได้แล้ว ศาลนี้ย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีส่วนแพ่งเช่นเดียวกัน พิพากษายกฟ้องและไม่รับฟ้องในคดีส่วนแพ่ง คืนค่าขึ้นศาลในส่วนแพ่งทั้งหมดให้แก่โจทก์
ทางด้านนายวัชระ เพชรทอง อดีต สส. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าขอกราบขอบพระคุณศาลยุติธรรมที่ให้ความยุติธรรมและเที่ยงธรรมแก่พลเมืองที่กล้าตรวจสอบโครงการของรัฐ โดยมี ดร.เกษม ศุภสิทธิ์ เป็นหัวหน้าทีมทนายความในการต่อสู้คดี ส่วนจะฟ้องกลับบริษัทซิโน-ไทยฯ หรือไม่ ต้องขอถามประชาชนก่อนเพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับภาษีของคนทั้งประเทศ 12,280 ล้านบาท พร้อมชี้ว่า แทนที่บริษัทจะแถลงชี้แจงข้อเท็จจริงหักล้างข้อสงสัยต่าง ๆ กลับมุ่งฟ้องร้องผู้แสดงความคิดเห็นโดยสุจริตและรักษาผลประโยชน์ของชาติหลาย ๆ คดีเช่นนี้เป็นการฟ้องเพื่อปิดปากหรือไม่ และใช้สิทธิฟ้องโดยสุจริตหรือไม่ มีอะไรซุกอยู่ใต้พรมหรือไม่
นายวัชระ เพชรทอง อดีต สส. พรรคประชาธิปัตย์กล่าวอีกว่าการประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อวันที่ 21 ธันวาคมที่ผ่านมา สมาชิกวุฒิสภายังลุกขึ้นเสนอให้ปิดการประชุมเพราะเหม็นกลิ่นสีกลิ่นทินเนอร์ที่ช่างก่อสร้างซ่อมแซมหลังคาห้องประชุมตรงจุดที่รั่ว สอดรับกับคำให้การของนายสุทธิพล พัชรนฤมลที่ให้การในศาลว่า สิ้นปี 2564 นี้การก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ก็ยังไม่แล้วเสร็จและไม่สามารถตอบได้ว่าจะก่อสร้างเสร็จสิ้นสมบูรณ์เมื่อใด การที่รัฐสภาไม่ได้ลงมติร่างพรบ.สำคัญอีก 2 ฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. …. เพราะเหตุที่สภาฯ สร้างไม่เสร็จมีกลิ่นเหม็นรุนแรงทำให้ประเทศชาติและประชาชนเสียประโยชน์อย่างมากใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ