เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำนักวิจัยและนักประดิษฐ์เข้าร่วมประกวดในเวทีนานาชาติ 3 ประเทศแบบออนไลน์ โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า ทาง (วช.) ได้ร่วมกับหน่วยงาน/องค์กรทั้งในและต่างประเทศสนับสนุนนักประดิษฐ์/นักวิจัยไทยที่มีศักยภาพในด้านต่างๆส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมแบบออนไลน์ จาก 3 เวที ได้แก่ เวที SIIF 2021 ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี,เวที KIDE 2021 ณ เมืองเกาสง ไต้หวัน และเวที ITEX 2021 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ สหพันธรัฐมาเลเซีย เพื่อสนับสนุนให้นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยเข้าสู่เวทีนานาชาติในระดับโลกและได้รับการยอมรับในระดับสากล
เวที “Seoul International Invention Fair 2021” (SIIF 2021) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1–4 ธันวาคม 2564 ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ทาง (วช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม โดย รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ชาญณรงค์ รอดคำ และคณะ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นนักวิจัย/นักประดิษฐ์ไทยที่คว้ารางวัล Grand Prize จากผลงาน “การทำวัคซีนปลาด้วยนวัตกรรมแบบไร้เข็ม” ทางนักวิจัยเล็งเห็นปัญหาจากการฉีดวัคซีนแบบรายตัว ที่ทำให้เกิดการเสียหายและส่งผลเสียต่อปลา จึงได้คิดค้นนวัตกรรมจากองค์ความรู้ทางนาโนเทคโนโลยีประยุกต์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการห่อหุ้มและนำส่งแอนติเจนของเชื้อก่อโรคในปลา และยังเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึมและการเกาะติดเยื่อเมือก ทำให้สามารถใช้วัคซีนในรูปแบบแช่หรือกิน ทั้งยังถูกหลักสวัสดิภาพของสัตว์
เวที “2021 Kaohsiung International Invention & Design Expo” (KIDE 2021) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2–4 ธันวาคม 2564 ณ เมืองเกาสง ไต้หวัน ซึ่งนักประดิษฐ์ไทยสามารถคว้ารางวัล WIIPA Special Award จากผู้จัดการ จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ นายพิรัชย์ อัศวกาญจน์ และคณะ จากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย ฝ่ายมัธยม ในผลงานเรื่อง “ชุดทดสอบบอแรกซ์และกรดบอริกชนิดเจล” และเภสัชกรหญิง ดร.พรวนิช เจริญพุทธคุณ และคณะ จากบริษัท เซน อินโนเวชั่น กรุ๊ป จำกัด ในผลงานเรื่อง “อิมัลชันเจลฟาร์อินฟราเรดกระท่อมเพื่อบรรเทาปวด”
เวที “The 32nd International Invention,Innovation & Technology Exhibition” (ITEX 2021) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13–14 ธันวาคม 2564 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ สหพันธรัฐมาเลเซีย โดยทาง (วช.) ได้ส่งนักวิจัย/นักประดิษฐ์ไทย เข้าร่วมการประกวด จำนวน 27 ผลงาน จาก 13 หน่วยงาน ทั้งในระดับนักวิจัยและระดับเยาวชนสามารถคว้ารางวัลต่างๆได้มากมาย
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน