พบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงหนึ่ง ห่างจากโลก 4 ปีแสง อาจมีมหาสมุทร เล็งส่งหุ่นยนต์ค้นหาสิ่งมีชีวิต
เมื่อวันพฤหัสบดี ทีมนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ของสถาบันวิจัย ซีเอ็นอาร์เอส ของฝรั่งเศส แถลงว่า ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะของเราดวงหนึ่ง ชื่อ Proxima b ซึ่งโคจรห่างจากดาวฤกษ์ศูนย์กลางในระยะห่างที่เอื่อต่อการยังชีพ อาจมีมหาสมุทรบนพื้นผิว เช่นเดียวกับโลก
นักวิทยาศาสตร์ประกาศข่าวการค้นพบ พร็อกซิมา บี เมื่อเดือนสิงหาคม พร้อมกับบอกว่า ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะของเรา ซึ่งอยู่ห่างออกไป 4 ปีแสงดวงนี้ อาจเป็นดวงแรกที่หุ่นยนต์จากโลกจะไปเยือนสักวันหนึ่งในอนาคต
พร็อกซิมา บี โคจรห่างจากดาวฤกษ์ Proxima Centauri ราว 7.5 ล้านกม. หรือประมาณหนึ่งในสิบของระยะห่างระหว่างดวงอาทิตย์กับดาวพุธ ดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด
แม้โคจรในระยะที่ใกล้มากกับดาวฤกษ์ ชวนให้เข้าใจว่าอุณหภูมิบนพื้นผิวคงร้อนจัด จนกระทั่งไม่อาจมีน้ำในสถานะของเหลวได้ แต่อันที่จริง พื้นผิวของพร็อกซิมา บีไม่ได้ร้อนเกินไป เนื่องจากพร็อกซิมา เซนทอรี มีขนาดเล็กกว่าดวงอาทิตย์ และปลดปล่อยพลังงานน้อยกว่าถึง 1,000 เท่า
ดังนั้น จึงนับว่า พร็อกซิมา บี อยู่ห่างจากดาวฤกษ์ศูนย์กลางในระยะที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต
โดยทั่วไป นักวิทยาศาสตร์คำนวณขนาดของดาวเคราะห์ได้โดยวัดปริมาณแสงจากดาวฤกษ์ที่ถูกบดบังเมื่อดาวเคราะห์นั้นโคจรผ่านหน้า แต่ทีมวิจัยยังไม่ได้เก็บข้อมูลนี้ จึงต้องอาศัยแบบจำลองในการคำนวณองค์ประกอบและรัศมีของดาวเคราะห์
ทีมวิจัยคำนวณได้ว่า พร็อกซิมา บี มีเส้นรัศมียาวประมาณ 0.94-1.4 ของเส้นรัศมีของโลก นั่นคือ ประมาณ 6,371 กม.
หากสมมติความยาวเส้นรัศมีน้อยสุดที่ 5,990 กม. ดาวเคราะห์ดวงนี้จะมีมวลหนาแน่นมาก แกนกลางที่เป็นโลหะมีสัดส่วนถึง 2 ใน 3 ของมวลทั้งหมด ห่อหุ้มด้วยเปลือกที่มีเนื้อเป็นหิน
หากบนพื้นผิวมีน้ำ น้ำคงมีไม่มากไปกว่า 0.05 % ของมวลทั้งหมด ซึ่งนับเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับโลก นั่นคือ 0.02%
แต่ถ้าสมมติความยาวเส้นรัศมีที่ 8,920 กม. มวลของพร็อกซิมา บีจะเป็นน้ำครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งเป็นแกนกลางที่เป็นหิน
ในกรณีหลังนี้ พร็อกซิมา บีจะมีมหาสมุทรผืนใหญ่ผืนเดียว มีน้ำในสถานะของเหลว มีความลึก 200 กม. และในทั้งสองกรณี ดาวเคราะห์ดวงนี้มีก๊าซบางๆเป็นชั้นบรรยากาศห่อหุ้มเช่นเดียวกับโลก นับเป็นสภาพที่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิต.
Cr: voice tv