ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ.วช. ร่วมกับ 5 ผู้ทรงคุณวุฒิ จาก 5 มหาวิทยาลัยในภาคใต้ เปิดเสวนาประเด็น “การพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจภาคใต้” แลกเปลี่ยนมุมมอง และแนวทาง เพื่อมุ่งสู่อนาคตการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคตอนใต้ของไทย อย่างมั่นคง
วันที่ 16 ธันวาคม 2564 : ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ร่วมเสวนา “การพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจภาคใต้” ในมหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค และวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2564 แสดงวิสัยทัศน์ และกรอบการพัฒนา เพื่อขับเคลื่อนและยกระดับเศรษฐกิจภาคใต้อย่างเป็นรูปธรรม เจาะวิธีแก้ไขปัญหา ให้ก้าวสู่เศรษฐกิจใหม่ที่ดีขึ้น บนฐานทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน โดยได้รับเกียรติจาก ผู้ทรงคุณวุฒิ อีก 5 ท่าน ประกอบด้วย ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์,ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์,รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ,ผศ.ดร.อภิรัตน์ สงรักษ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย และ ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ให้เกียรติร่วมพูดคุยใน 3 ประเด็นหลัก คือ การเหลียวหน้าแลหลังเศรษฐกิจถิ่นใต้ กลยุทธ์สู่อนาคต และภาพรวมนโยบายการขับเคลื่อน
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ วช.เปิดเผยว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้วางกรอบการนำวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ในการทำงานในพื้นที่ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจภาคใต้ โดยรับโจทย์และตั้งหมุดหมายการวิจัยและแผนงาน ที่คำนึงถึง Demand Site การมีส่วนร่วมของชุมชน และการสร้าง Partner บูรณาการใช้ความรู้ร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ ให้เกิดผลประโยชน์ร่วม ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ นโยบาย วิชาการ และสังคม โดยมีกลไกสำคัญ คือ การจัดการความรู้เพื่อชุมชน ผ่านเครือข่ายวิจัยภูมิภาค และศูนย์วิจัยชุมชน จากการขับเคลื่อนของมหาวิทยาลัยในท้องถิ่น เพื่อสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมพร้อมใช้ลงสู่สังคม อีกทั้งให้ความสำคัญกับการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน การพัฒนากำลังคน นักวิจัยให้มีความพร้อม การขยายการเติบโตด้านอุตสาหกรรมในทุกขนาด โดยโครงการ Grand Challenges เช่นนี้ จะสามารถตอบโจทย์ประเทศในประเด็นที่สำคัญใหญ่ ๆ ได้ เกิดการทำงานเชิงระบบ ท้าทายมากขึ้น โดยมหาวิทยาลัยต้องช่วยกันทำงานเพื่อลดซ้ำซ้อนของงานวิจัย และดำเนินการให้สอดรับกับนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลด้วย เพื่อให้เกิดความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมา ได้เกิดการขยายผลงานวิจัยแล้วหลายโครงการในภาคใต้ อาทิ งานวิจัยคืนปู่ม้าสู่ทะเลไทย งานวิจัยเพื่อยกระดับเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ เป็นต้น โดย (วช.) ได้สนับสนุนงบประมาณ และระบบ IT ในการดำเนินงานเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ด้าน ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี ม.อ. กล่าวว่า ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ของภาคใต้ ศิลปวัฒนธรรมที่หลากหลาย ได้หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของภูมิภาคมาโดยตลอด การยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจ จึงควรอยู่บนพื้นฐานของความยั่งยืน สำหรับกลไกการพัฒนา ได้มองไปถึงการสร้างความสมดุลการมีส่วนร่วม การบูรณาการอย่างจริงจัง การส่งต่อองค์ความรู้แก่ชุมชนเพื่อขจัดความขัดแย้งต่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยต้องมีการ Reskill-Upskill เพื่อช่วยกันคิด ช่วยกันทำกับทุกภาคส่วน ภายใต้โจทย์ปัญหาที่ชัดเจน การวิจัยจึงควรเป็นไปในเชิงลึก โดยเฉพาะการนำ BCG Model มาใช้ จะเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ในทุกมิติ
อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ รองอธิการบดี ม.ทักษิณ ยังเสริมอีกว่า การเดินหน้าพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานรากภาคใต้ ด้วยวิจัยและนวัตกรรม ต้องเสริมสร้างความรู้วิทยาศาสตร์ในระดับมหาวิทยาลัย เพื่อนำมาใช้ขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ บนฐานของภูมิปัญญาท้องถิ่น ระบบนิเวศ และวิถีชีวิตคนใต้ โดยเชื่อมโยงนโยบาย และกระตุ้นความร่วมมือของคนในชุมชน พร้อมกระจายองค์ความรู้ออกไปให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น ซึ่งขณะนี้ ม.ทักษิณ ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ.2564–2568 ขึ้น เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์ม เป็นแนวทางการออกแบบการขับเคลื่อน การดำเนินการ และการปฏิบัติการด้านนวัตกรรมสังคมที่มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล รวมทั้งแผนงานริเริ่มสำคัญ (Flagships) ต่างๆ อีกด้วย
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน