จีนยึด ๖ ประเด็นสำคัญขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจ ( 中央经济工作会议六大民生看点)
ข้อมูลเกี่ยวกับ ๖ ประเด็นสำคัญต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในการประชุมส่วนกลางด้านเศรษฐกิจของจีน ( 中央经济工作会议六大民生看点) ณ กรุงปักกิ่ง ในระหว่างวันที่ ๘ – ๑๐ ธ.ค.๖๔ กล่าวคือ
๑. การจ้างงานต้องมาก่อน: เพิ่มการจ้างงานท่ามกลางการเติบโตทางเศรษฐกิจ (就业优先:提高经济增长的就业带动力) ซึ่งที่ประชุมเรียกร้องให้งานเศรษฐกิจปีหน้าต้องเป็นผู้นำและแสวงหาความก้าวหน้าพร้อมทั้งรักษาเสถียรภาพ โดยทำผลงานให้ได้ดีต่อไปใน “เสถียรภาพ ๖ ด้าน” (“六稳”) และ “หลักประกัน ๖ ประการ” (“六保”) ตลอดจนการแก้ปัญหาการจ้างงานของบัณฑิตวิทยาลัยและเยาวชนคนอื่น ๆ และปรับปรุงการจ้างงานที่ยืดหยุ่นและนโยบายการประกันสังคม
๒. อุปสงค์ที่อยู่อาศัย: ยืนหยัด “บ้านใช้อยู่อาศัยไม่เก็งกำไร” และสนับสนุนตลาดที่อยู่อาศัยเชิงพาณิชย์ให้ตอบสนองความต้องการที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมของผู้ซื้อได้ดียิ่งขึ้น (住房需求:坚持“房住不炒”,支持商品房市场更好满足购房者的合理住房需求) ซึ่งที่ประชุมเรียกร้องให้ยืนหยัดแนวคิดบ้านเพื่อใช้อยู่อาศัยไม่ใช่เพื่อเก็งกำไร โดยเสริมสร้างการชี้นำแนวโน้มของตลาด แสวงหารูปแบบใหม่แห่งการพัฒนา ยืนหยัดขับเคลื่อนทั้งตลาดซื้อขายและเช่าบ้านอยู่อาศัย เร่งพัฒนาตลาดบ้านเช่าระยะยาว ผลักดันการก่อสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย และสนับสนุนตลาดที่อยู่อาศัยเชิงพาณิชย์ให้ตอบสนองความต้องการที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมของผู้ซื้อได้ดียิ่งขึ้น ส่งเสริมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้หมุนเวียนและพัฒนาด้วยดีโดยใช้นโยบายสนับสนุนให้แต่ละเมืองใช้มาตรการที่แตกต่างกันตามสภาพของตน
๓. หลักประกันชีวิตผู้สูงอายุ : ขับเคลื่อนการบูรณาการระบบประกันเงินบํานาญขั้นพื้นฐานในขอบเขตทั่วประเทศ (养老保障:推进基本养老保险全国统筹) ซึ่งคาดการณ์ว่าในช่วง “แผนห้าปี ฉบับที่ ๑๔” (“十四五”) ปี ๒๐๒๑ – ๒๐๒๕ หรือ พ.ศ.๒๕๖๔ – ๒๕๖๘) ประชากรสูงวัยของจีนจะทะลุ ๓๐๐ ล้านคน และจีนจะก้าวจากสังคมผู้สูงอายุระดับเบาสู่สังคมผู้สูงอายุระดับปานกลาง ดังนั้น ต้องมีการรับมือกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุอย่างแข็งขัน โดยยกระดับเป็นยุทธศาสตร์แห่งชาติ เพื่อสร้างหลักประกันด้านรายได้ การบริการและอื่นๆ แก่ผู้สูงอายุ ซึ่งต้องเร่งรัดและขับเคลื่อนการปฏิรูปในด้านต่างๆ
๔. นโยบายการมีบุตร: ผลักดันนโยบายใหม่เกี่ยวกับการคลอดบุตรให้บรรลุผลลัพธ์รูปธรรม (生育政策:推动新的生育政策落地见效) โดยเมื่อเดือนกรกฎาคมปี ๒๐๒๑ (พ.ศ.๒๕๖๔) จีนได้ประกาศนโยบายสำคัญเกี่ยวกับการส่งเสริมการมีบุตร ๓ คนและมาตรการสนับสนุน นอกจากนี้ ในเดือนสิงหาคม ปี ๒๐๒๑ (พ.ศ.๒๕๖๔) คณะกรรมการประจำสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติได้ผ่านมติเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยประชากรและการวางแผนครอบครัว
๕. ความมั่งคั่งร่วมกัน : ต้องทำ”เค้ก”ให้ใหญ่และดี และตัดแบ่งให้สวยงามด้วย (共同富裕:“蛋糕”既要做大做好,又要切好分好) ซึ่งที่ประชุมเห็นว่า การบรรลุเป้าหมายความมั่งคั่งร่วมกันนั้น ก่อนอื่นใดต้องทำให้เค้กใหญ่ขึ้นและดีขึ้นจากการฟันฝ่าต่อสู้ร่วมกันของประชาชนทั่วประเทศ ตามด้วยการตัดและแบ่งเค้กให้ดีผ่านการจัดวางระบบที่สมเหตุสมผล ต้องขยายบทบาทและหน้าที่ของการแบ่งปัน ยืนหยัดถือการแบ่งปันตามงานเป็นหลัก ปรับปรุงนโยบายการแบ่งปันตามปัจจัยสำคัญในด้านต่างๆ ยกระดับการปรับความสมดุลในด้านต่างๆ เช่น ภาษี ประกันสังคม และการให้เงินช่วยเหลือแก่พื้นที่ล้าหลังกว่า ตลอดจนสนับสนุนวิสาหกิจและกลุ่มทางสังคมที่เต็มใจและมีความสามารถให้เข้าร่วมภารกิจด้านการกุศลเพื่อสาธารณประโยชน์อย่างแข็งขัน
๖. การจัดหาด้านพลังงาน: ทำหน้าที่ได้ดีในการประกันอุปทานและเสถียรภาพของราคา ส่งเสริมสีเขียวและคาร์บอนต่ำ (能源供应:做好保供稳价,倡导绿色低碳) ซึ่งที่ประชุมเห็นว่า ต้องประกันอุปทานพลังงานให้ได้ วิสาหกิจขนาดใหญ่โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจต้องเป็นผู้นำในการสร้างเสถียรภาพด้านอุปทานและราคา ทั้งนี้ จำเป็นที่ต้องทำความเข้าใจถึงหลักประกันด้านอุปทานของผลิตภัณฑ์หลักอย่างถูกต้องนั้น โดยที่ประชุมเห็นว่า ต้องยึดหลักใช้อย่างประหยัดรู้คุณค่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ดำเนินยุทธศาสตร์ประหยัดพลังงานอย่างครอบคลุม ในด้านการผลิต ขับเคลื่อนการประหยัดทรัพยากรอย่างรอบด้าน ยกระดับประสิทธิผลของการใช้ประโยชน์ทรัพยากรและการรีไซเคิล ในด้านการบริโภคเสริมสร้างจิตสำนึกการประหยัดทรัพยากรของประชาชนทั่วประเทศ ส่งเสริมวิถีชีวิตที่เรียบง่าย เหมาะสม สีเขียวและคาร์บอนต่ำ
บทสรุป ประเด็นสำคัญต่อการดำรงชีวิตของประชาชนทั้ง ๖ ประการดังกล่าว เป็นผลมาจากการประชุมงานส่วนกลางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงปักกิ่ง ในระหว่างวันที่ ๘ – ๑๐ ธ.ค.๖๔ เพื่อสรุปงานด้านเศรษฐกิจในรอบปี ๒๐๒๑ (พ.ศ.๒๕๖๔) รวมทั้งวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และการวางแผนงานทางเศรษฐกิจในปี ๒๐๒๒ (พ.ศ.๒๕๖๕)
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
( ข้อมูลจากเว็บไซต์ http://www.news.cn/2021-12/11/c_1128152767.htm )
นำเสนอ/รายงาน
ว่าที่ พันตรี กรพด รุ่งหิรัญวัฒน์
ตำแหน่ง เลขาธิการ
สถาบันศึกษาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโครงการเส้นทางสายไหม
17/12/2021