“อนุทิน” ปาฐกถาพิเศษ “พลังพลเมืองตื่นรู้ พาไทยสู่สุขภาวะที่ยั่งยืน” ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ วันที่สอง ระบุ โควิด-19 ตอกย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน พร้อมประกาศสนับสนุนให้หน่วยงาน-องค์กรที่เกี่ยวข้องกับมติสมัชชาฯ นำนโยบายสาธารณะที่เกิดจากงานสมัชชาสุขภาพฯ ไปสู่การดำเนินการที่เป็นรูปธรรม
วันที่ 16 ธันวาคม 2564 : สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 พ.ศ.64 ณ หอประชุมใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ภายใต้ประเด็นหลัก (ธีม) “พลังพลเมืองตื่นรู้ … สู้วิกฤตสุขภาพ” เป็นวันที่สอง ท่ามกลางความสนใจและมีผู้เข้าร่วมผ่านทาง onsite และ online เป็นจำนวนมาก
สำหรับงานในวันแรก สมาชิกสมัชชาสุขภาพฯ ได้ให้ฉันทมติและรับรองข้อมติ 3 ในระเบียบวาระ ได้แก่ 1.การสร้างเสริมสุขภาวะสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนในวิกฤตโควิด-19,2.การคุ้มครองการเข้าถึงบริการสุขภาพของกลุ่มประชากรเฉพาะในภาวะวิกฤตอย่างเป็นธรรม,3.การจัดการการสื่อสารอย่างมีส่วนร่วมในวิกฤตสุขภาพ โดยมีหัวหน้าหน่วยงานราชการ องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ทั้งจากส่วนกลางและจังหวัดต่างๆ รวม 60 แห่ง ได้ร่วมกันขึ้นกล่าวถ้อยแถลงพร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพฯ ทั้ง 3 มติ ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม
ในส่วนของงานวันที่สอง มีกิจกรรมหลากหลาย อาทิ การรายงานความก้าวหน้าของการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพฯ ที่ผ่านมา โดย ศ.คลินิก นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา รองประธานกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) การแสดงปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “พลังพลเมืองตื่นรู้ พาไทยสู่สุขภาวะที่ยั่งยืน” โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) และหัวข้อ “สุขภาพองค์รวม จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” โดย นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานสมาคมสภาผู้สูงอายุ แห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ฯ และเวทีทัศน์ “ทิศทางโลก ทิศทางไทย: โอกาสและความท้าทาย”
นายอนุทินฯ ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “พลังพลเมืองตื่นรู้ พาไทยสู่สุขภาวะที่ยั่งยืน” ตอนหนึ่งว่า โควิด-19 ได้ตอกย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศไทยสู่สุขภาวะที่ยั่งยืน ที่ต้องตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบันและไม่ลิดรอนความสามารถของคนรุ่นหลัง
นายอนุทิน กล่าวว่า การบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนตาม 3 องค์ประกอบ ได้แก่ ความครอบคลุมทางสังคม การเติบโตทางเศรษฐกิจ และการคุ้มครองทางสิ่งแวดล้อม ต้องดำเนินการเชื่อมโยงใน 5 มิติ ตามที่องค์การสหประชาชาติได้กำหนดไว้ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) นั่นคือการพัฒนาคน สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและความมั่งคั่ง สันติภาพและความยุติธรรม และที่สำคัญคือความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา โดยทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นภายในปี ค.ศ.2030 ตามกรอบการพัฒนาของโลกภายใต้หลักการ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
“รวมถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ที่จะใช้เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ในช่วงปี 2566-2570 ที่เน้นเรื่องเศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน ซึ่งแน่นอนว่าทั้งหมดนี้ สอดคล้องกับการจัดกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่สร้างการมีส่วนร่วมหลากหลาย เกิดกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะที่ดีและได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน และจะนำไปสู่การสร้างพลังของพลเมืองที่ตื่นรู้ ที่จะพาประเทศไทยให้รอดพ้นวิกฤตและสู่สุขภาวะได้อย่างยั่งยืน” นายอนุทินฯ กล่าว
นายอนุทินฯ กล่าวอีกว่า ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี รมว.สาธารณสุข และประธาน คสช. ยินดีที่จะสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำนโยบายสาธารณะที่เกิดขึ้นจากงานสมัชชาสุขภาพฯ ไปสู่การดำเนินการที่เป็นรูปธรรม และเชื่อว่าความเห็นร่วมที่แสดงออกผ่านถ้อยแถลงของผู้แทนหน่วยงาน องค์กร และภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ จะนำไปสู่เป้าหมายในการสร้างสุขภาวะที่ยั่งยืนได้อย่างแน่นอน
ขณะที่ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในอดีตจนถึงปัจจุบันว่า นับตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งมีการจัดงานสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งที่ 1 จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีมติสมัชชาสุขภาพฯ แล้ว 87 มติ เมื่อรวมกับที่ได้รับฉันมติเพิ่มเติมในงานสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งที่ 14 อีก 3 มติ จะรวมเป็น 90 มติ โดยที่ผ่านมา คมส. ได้จัดกลุ่มมติสมัชชาสุขภาพฯ ออกเป็น 4 กลุ่ม เพื่อให้ง่ายต่อการติดตามและวางแนวทางการขับเคลื่อน
ทั้งนี้ ได้แก่ 1.มติสมัชชาสุขภาพฯ ที่มีการขับเคลื่อนและเห็นผลลัพธ์ชัดเจนโดยกระบวนการและ กลไกนโยบายที่มีอยู่ (Achieved) จำนวน 36 มติ,2.มติสมัชชาสุขภาพฯ ที่กำลังขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง (On-going) จำนวน 34 มติ,3.มติสมัชชาสุขภาพฯ ที่ทำการทบทวนมติเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ (To be revisited) จำนวน 4 มติ และ 4.มติที่ควรยุติการรายงานการขับเคลื่อน 13 มติ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม :
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สช.
โทร. 02-8329141
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน