บทความพิเศษ โดย ดร.กมล รอดคล้าย ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกนะทรวงศึกษาธิการ
ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ…. กำลังถูกนำเสนอเข้าสู่สภา โดยขั้นตอนการดำเนินการอยู่ในชั้นกรรมาธิการ หลังจากผ่านการลงมติรับหลักการในวาระที่ 1ไปแล้ว ทิศทางส่งเสริมการเรียนรู้มีสาระบัญญัติสำคัญ คือช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการ ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ส่งเสริมการเรียนรู้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนถึงวัยชรา สร้างโอกาสทางการศึกษาให้ประชาชนทั่วไปรวมทั้งกลุ่มด้อยโอกาส โดยมีรูปแบบจัดการเรียนรู้ 3 รูปแบบ คือ 1) การจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต,2) การ จัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง และ 3) การจัดการเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นกฎหมายสำคัญที่จะพลิกโฉมระบบการศึกษาไทย จากเดิมเน้นการศึกษาในระบบ พื้นฐาน อาชีวะ อุดมศึกษามาเป็นการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย โดยนับเป็นครึ่งหนึ่งของระบบการศึกษาทั้งหมด ที่คู่ขนานไปกับระบบการศึกษาปกติ และผู้จัดมิใช่เฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ หรือกระทรวงที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงภาคประชาสังคม สื่อสารมวลชน องค์กรธุรกิจ และอื่นๆ
อย่างไรก็ตามคำถามหนึ่งซึ่งมีผู้ตั้งข้อสังเกตไว้คือ เมื่อจะส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต สังคมไทยมีความพร้อมที่จะให้ความรู้ หรือจัดการความรู้ มากน้อยเพียงใด ดัชนีที่บ่งชี้ระดับการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนไทยอยู่ที่เท่าไร และจังหวัดใด มีความพร้อมในการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตมากกว่ากัน
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ได้ดำเนินการศึกษา และมีคำตอบสำหรับเรื่องนี้ไว้ ในเอกสาร ดัชนีการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประเทศไทย พ.ศ.2563 โดยกำหนดนิยามของคำว่า การเรียนรู้ตลอดชีวิต คือ “กระบวนการเรียนรู้ของบุคคลตั้งแต่เกิดจนตายผ่านช่องทางและกิจกรรมการเรียนรู้ที่เอื้ออำนวยให้บุคคลสามารถเพิ่มพูนความรู้ทักษะและสมรรถนะได้ด้วยตนเองตามความสนใจและความต้องการในการเติมเต็มชีวิตและเกิดประโยชน์ต่อสังคม” ประกอบด้วยสามมิติคือ 1.ระบบนิเวศการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต,2.ผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต และ 3 ผลของการศึกษาและการเรียนรู้ โดยกำหนดค่าดัชนีไว้มีคะแนนเต็ม 1.00
ผลปรากฏว่าประเทศไทย มีคะเเนนอยู่ที่ 0.47 หรือร้อยละ 47 ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของสภาพความพร้อมและผลสัมฤทธิ์จากการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยภาพรวม จังหวัดที่ได้ค่าคะแนน สูงสุดห้าอันดับแรกได้แก่ นครปฐม และสมุทรสงคราม 0.61 ชลบุรี 0.58 ลพบุรี 0.57 ราชบุรี 0.56 กรุงเทพมหานคร และภูเก็ต 0.55
เมื่อแยกเป็นรายมิติ พบว่า มิติที่ 1 ระบบนิเวศการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยศึกษาว่ามีเเหล่งเรียนรู้เท่าใด ต่อจำนวนประชากร 100,000คน ประชากรสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ที่ต้องการโดยไม่มีข้อจำกัดทั้งทางกายภาพและทางการเงิน เช่นอัตราการเข้าเรียน ค่าใช้จ่ายในการซื้อหนังสือ สัดส่วนของเเหล่งเรียนรู้ที่จัดโดยรัฐและเอกชน พบว่า ห้าอันดับแรกได้เเก่ นครปฐม และสมุทรสงคราม 0.60 เลย 0.58 สุพรรณบุรี และลพบุรี 0.54 ราชบุรี 0.52 ชลบุรี 0.51
มิติที่ 2 ผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งวัดจากองค์ความรู้และทักษะที่จำเป็นในการเรียนรู้ด้วยตนเอง เช่นคะเเนนเฉลี่ยทางการศึกษา การใช้อินเทอร์เน็ต จำนวนปีการศึกษาเฉลี่ย การร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ในครอบครัว ชุมชน หมู่บ้าน พบว่า ห้าอันดับเเรก ได้แก่ เชียงใหม่ 0.65 กรุงเทพมหานคร และชลบุรี 0.62 น่าน 0.61 ฉะเชิงเทรา ตราดนครศรีธรรมราช และนนทบุรี 0.57 ปทุมธานี และภูเก็ต 0.55
มิติที่ 3 ผลของการศึกษาและการเรียนรู้ ซึ่งได้วิเคราะห์ถึงสมรรถนะด้านสุขภาวะ ด้านการเงิน ด้านความเป็นพลเมือง และด้านสิ่งแวดล้อม พบว่า ห้าอันดับแรก ได้แก่ ปทุมธานี 0.73 สมุทรสงคราม 0.72 สระบุรี และประจวบคีรีขันธ์ 0.71 นครปฐม ลำพูนและอยุธยา 0.70 ราชบุรีและอ่างทอง 0.69
จากผลการศึกษาดังกล่าว เเสดงให้เห็นว่า เมื่อเราจะส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับประชาชน การจัดการศึกษาในระบบเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่ง แต่การสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ ที่มีความสมบูรณ์พร้อม เป็นเรื่องสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยเริ่มจากการออกกฏหมายที่ว่าด้วยการส่งเสริมการเรียนรู้ เพราะเปรียบเสมือนการตั้งต้นปรับทิศทางของระบบการจัดการศึกษาในอนาคต จากนั้นเรื่องที่ต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการออกกฎหมายคือ การสร้างความพร้อมให้เกิดขึ้นในสังคม ให้มีแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย มีระบบการเรียนรู้ที่กว้างขวาง ทุกรูปแบบ ทั้งระบบปกติและ ออนไลน์ สามารถเรียนรู้ได้ ทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา เมื่อดำเนินการเช่นนี้การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตก็จะประสบความสำเร็จตามที่คาดหวัง
ส่วนประเด็นที่ว่า เมื่อนำเสนอห้าจังหวัดแรกที่มีค่าคะแนนสูงสุดตามดัชนีการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต อันหมายถึงจังหวัดเหล่านี้มีความพร้อม มีผลสำเร็จอันเกิดจากการจัดการเรียนรู้ และมีเเนวโน้มที่พัฒนาระดับคะเเนนให้เพิ่มสูงยิ่งๆขึ้นไป แล้วห้าจังหวัดสุดท้าย ที่มีค่าคะแนนต่ำสุด ในด้านต่างๆคือจังหวัดใดบ้าง เรื่องนี้จะขอไม่นำเสนอ ขอเชิญทุกท่านไปแสวงหาคำตอบ และอ่านได้ด้วยตนเองจากผลการศึกษาของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน