ผู้สื่อข่าวมีรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.64 ที่ผ่านมา มีการประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) มีวาระการพิจารณาที่น่าสนใจคือ ข้อเสนอให้พักราชการนายสราวุธ เบญจกุล อดีตเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักงานศาลยุติธรรม ที่อยู่ระหว่างการสอบสวนทางวินัยร้ายแรงเรื่องการจัดจ้างปรับปรุงอาคารศาลจังหวัดพระโขนง อาคารศาลจังหวัดตลิ่งชันและอาคารศาลจังหวัดมีนบุรี ว่า ที่ประชุม (ก.ต.) มีมติ 8 ต่อ 7 ไม่พักราชการนายสราวุธ เพราะเห็นควรรอ ผลการสอบสวนที่จะเสร็จสิ้นในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2564 นี้ก่อน โดย มีรายงานว่า (ก.ต.) ที่ลงมติให้พักราชการนายสราวุธฯ ได้แก่ นายโชติวัฒน์ เหลืองประเสริฐ,นายสมเกียรติ ตั้งสกุล,นายชูชัย วิริยะสุนทรวงศ์,นายปุณณะ จงนิมิตสถาพร,นายสมชาย อุดมศรีสำราญ,นายอนุรักษ์ สง่าอารีย์กุล และนายไผทชิต เอกจริยกร
ส่วน (ก.ต.) ที่ลงมติไม่พักราชการ นายสราวุธฯ ได้แก่ นางสาวปิยกุล บุญเพิ่ม ประธานศาลฎีกา,นายพศวัจน์ กนกนาก,นางนุจรินทร์ จันทร์พรายศรี,นายสุทิน,นาคพงศ์,นายจุมพล ชูวงษ์,นายกำพล รุ่งรัตน์,นายณรัช อิ่มสุขศรี และนายจำนง เฉลิมฉัตร
ในเรื่องนี้ นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ อดีตประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา กล่าวถึง มติ (ก.ต.) ดังกล่าว ระบุว่า เมื่อพิจารณา บุคคลที่ลงมติ ขอให้พักราชการ นายสราวุธฯ จะเห็นว่า มีรายชื่อของบุคคลที่ถูกร้องเรียนเรื่องของการปฏิบัติหน้าที่ ด้วย ในส่วนตัวมองว่า ในฐานะที่เห็นเรื่องของการสอบสวนที่ไม่เป็นธรรม จึงร้อง (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบ ข้อร้องเรียนอีกครั้ง และในฐานะที่เป็นผู้ร้องเรียนเอง ก็ไม่ควรไปลงมติในเรื่องที่เป็นผลร้ายแก่ใคร และหากจะพูดในมุมของจริยธรรม การที่มาทำหน้าที่ เป็น (ก.ต.) ควรต้องเคลียร์ตัวเองให้มีความโปร่งใส ก่อนที่จะไปทำหน้าที่ลงมติในเรื่องใดๆก็ตาม แม้ว่า จะไม่มีกฎหมายกำกับเรื่องของการสละสิทธิ์ที่จะลงมติใดๆ หาก (ก.ต.) ผู้นั้นถูกร้องเรียน แต่ทั้งนี้ หากมองในมุมของจริยธรรม และความสง่างาม ขององค์กร (ก.ต.) ก็ควรที่ จะมีสปิริต ไม่ลงมติในเรื่องใดๆเลย และรอให้ผลการสอบสวนเสร็จสิ้นไปก่อน
“เรื่องของตัวเองยังไม่เคลียร์ จะไปลงมติคนอื่นได้อย่างไร และ หากมีปัญหาว่าตัวเองกระทำความผิด ต้องพ้นสภาพการเป็น (กต.) ก็จะมีปัญหาแน่นอน เพราะการกระทำของนายอนุรักษ์ เกิดขึ้นก่อนที่จะไปลงมติทั้งหลาย ทำไมถึงไม่สอบให้เสร็จไป นายอนุรักษ์ฯ ควรจะแสดงสปิริตของตัวเอง ด้วย เพราะเป็นถูกกล่าวหาอยู่ ซึ่งก็ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน ว่า ตนเองเป็นผู้ถูกกล่าวหาเรื่องการปฏิบัติหน้าที่อยู่ แต่ทำเหมือนไม่รู้ไม่ชี้ และกลับไปลงมติพิจารณาเรื่องของคนอื่น” นายชำนาญฯ กล่าว
อดีตประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา ยังกล่าวด้วยว่า จริยธรรมขั้นสูงของผู้ที่เป็น (ก.ต.) ไม่สมควรที่จะไปลงมติ ในเรื่องใดเลย จนกว่าผลการสอบสวนในเรื่องที่ตนเองถูกร้องเรียนจะเสร็จสิ้นก่อน เพราะการเป็น (ก.ต.) ต้องเป็นแบบอย่างให้กับองค์กรอื่น ซึ่งในเรื่องนี้ควรเป็นบรรทัดฐานให้ (ก.ต.) ท่านอื่นด้วย ว่า ถ้าตนเองถูกร้องเรียน ก็ไม่ควรที่จะโหวตหรือลงมติในเรื่องใด ควรรอผลสอบให้มีความชัดเจนก่อน ทั้งนี้เพื่อความสง่างามของ (ก.ต.) เอง และเพื่อความสง่างามของ องค์กร ด้วย เพราะที่ผ่านมา (ก.ต.) อ้างว่าเป็นแบบอย่างให้องค์กรอื่น และในเรื่องความสง่างาม ถือเป็นหัวใจสำคัญของการเป็น (ก.ต.)
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน