ไทย-จีน ความร่วมมือด้านนวัตกรรมเป็นสาขาที่โดดเด่นภายใต้กรอบข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (“一带一路” / “Belt and Road Initiative: BRI”)
ความร่วมมือเชิงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างไทยกับจีน จากการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน เมื่อวันที่ ๒ – ๕ พ.ย.๖๒ ว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม กล่าวคือ
๑. ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่า ความร่วมมือด้านนวัตกรรมเป็นสาขาที่โดดเด่นภายใต้กรอบข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (“一带一路” / “Belt and Road Initiative: BRI”) ทั้งสองฝ่ายจะพิจารณาโครงการ เช่น ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร การเปิดศูนย์นวัตกรรม นิคมอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง และศูนย์การถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในด้านต่าง ๆ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล เมืองอัจฉริยะ การใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศแบบหลอมรวม ซอฟต์แวร์และบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ความเชื่อมโยงของโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีสารสนเทศการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของอุตสาหกรรม ความมั่นคงทางไซเบอร์ การประมวลผลบนระบบคลาวด์ (cloud computing) และปัญญาประดิษฐ์ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายมุ่งหวังที่จะสร้างเส้นทางสายไหมดิจิทัล (digital Silk Road) ร่วมกัน
๒. ทั้งสองฝ่ายจะยังคงร่วมกันส่งเสริมความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่อไป เพื่อสังคม และเศรษฐกิจที่รุ่งเรืองและการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านการวิจัยและพัฒนาร่วมกัน การแลกเปลี่ยนนักวิทยาศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัย และการถ่ายทอดเทคโนโลยีในสาขาที่มีความสนใจร่วมกัน ทั้งสองฝ่ายยังได้เห็นพ้องที่จะพิจารณาความเป็นไปได้ในการร่วมมือกันในด้านเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว และเทคโนโลยีแนวหน้า (frontier technology)
๓. นายกรัฐมนตรีของทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน ๓ ฉบับ ได้แก่ (๑) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ วิชาการและนวัตกรรม (๒) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการแลกเปลี่ยนข่าวและข้อมูลข่าวสารระหว่างกรมประชาสัมพันธ์ กับสำนักข่าวซินหวา และ (๓) บันทึกความเข้าใจระหว่างบริษัท เอสซีจี จำกัด (มหาชน) กับศูนย์ความร่วมมือทางนวัตกรรมแห่งสถาบันบันฑิต
บทสรุป เมื่อ ๒ ปีที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีของทั้งไทยและจีนต่างได้ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างกัน ท่ามกลางผันผวนของเศรษฐกิจโลกผ่านกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงทางโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเสริมสร้างการเจริญเติบโตและความมั่งคั่งของสองประเทศ รวมทั้งอนุภูมิภาคและภูมิภาคในภาพรวม ดังนั้น ควรได้นำข้อตกลงดังกล่าวในข้างต้นมาพิจารณาดำเนินการขับเคลื่อนต่อไป โดยปรับให้สอดคล้องกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติโดยรวม
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
( ข้อมูลจากเว็บไซต์ http://www3.mfa.go.th/main/th/news3/6885/111246-%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B9%88-%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%89%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%87-%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B8%88%E0%B8%B5%E0%B8%99%E0%B9%80.html และเว็บไซต์ https://mgronline.com/politics/detail/9620000106135 )
นำเสนอ/รายงาน
ว่าที่ พันตรี กรพด รุ่งหิรัญวัฒน์
ตำแหน่ง เลขาธิการ
สถาบันศึกษาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโครงการเส้นทางสายไหม
8/12/2021