(2ธ.ค.64)เมื่อเวลา 12.00น.ที่สำนักงานป.ป.ช.นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตส.ส.ประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ให้ตรวจสอบการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดในหน้าที่ราชการของนางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและประธานคณะกรรมการตรวจการจ้างฯนายสาธิต ประเสริฐศักดิ์ รองเลขาธิการสภาฯและคณะ
กรณีไม้ปูพื้นบริเวณโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ที่น่าเชื่อว่าไม่เป็นไปตามแบบ ทำให้รัฐเสียหายหลายประการคือ
1.ไม้ที่ใช้ปูพื้นและตง ซึ่งตามแบบให้ใช้ไม้ตะเคียนทอง แต่พบว่ามีไม้ตะเคียน หย่องและไม้ตะเคียนหินผสมอยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะบริเวณที่อยู่ในบริเวณที่ลับตา อีกทั้งบางจุดมีไม้ที่ไม่ใช่ไม้ทั้ง 3 ชนิดดังกล่าวผสมอยู่ด้วย
- ขนาดของไม้ปูพื้นเกือบทั้งหมดมีความยาวไม่ถึง 3 เมตรตามแบบที่กำหนดในสัญญา
- ตามแบบไม้ที่เอามาใช้ในการก่อสร้าง ต้องเป็นไม้ที่อบแล้วความชื้นไม่เกิน 16% ขณะที่อากาศในประเทศไทยความชื้นน้อยที่สุดตอนบ่ายความชื้นสัมพัทธ์เกิน 30% ตอนเช้าความชื้นสัมพัทธ์เกิน 60% อีกทั้งไม้ปูอยู่บนพื้นคอนกรีตความชื้นจะยิ่งสูงขึ้น การอ้างว่าไม้หดตัวหลังจากปูพื้นแล้ว จึงไม่ชอบด้วยเหตุผล เป็นการอ้างเพื่อช่วยเหลือกัน
- มีการแก้ไขสัญญาโดยให้มีร่องห่างจาก 2 มิลลิเมตรเป็น 8 มิลลิเมตร ไม่เป็นประโยชน์กับรัฐ ไม่มีเหตุผลในการแก้ไขสัญญา เอื้อประโยชน์ ไม่ชอบด้วยพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา97 และขณะนี้พบว่ามีไม้บางแผ่นเริ่มแอ่น ซึ่งจากการศึกษาทราบว่า ถ้ามีการอบไม้ถึงจุดที่กำหนดจริง จะไม่มีปัญหาเรื่องการหด แตก หรือแอ่น
- ประเทศไทยประกาศปิดป่าตั้งแต่ปี 2532 อีกทั้งไม่มีการปลูกป่าไม้ตะเคียนทองอีกเลย ดังนั้น การรวบรวมไม้ตะเคียนทองมาใช้ในการก่อสร้างจำนวนมาก ไม่น่าจะเป็นไปได้ จึงน่าจะมีการนำเข้าจากต่างประเทศ จึงต้องตรวจสอบใบเสร็จรับเงิน ใบส่งสินค้า และแหล่งที่มาของไม้ เพื่อจะตรวจสอบว่าเป็นไม้ตะเคียนทองจริง และพื้นที่บริเวณที่ปูพื้นไม้ทั้งหมดสอดคล้องกับปริมาณไม้ที่สั่งซื้อหรือไม่
นอกจากนี้นายวิลาศ ยังได้ยื่นหนังสือถึงเลขาธิการ ป.ป.ช.อีก1ฉบับ
ขอให้ตรวจสอบการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่จงใจฝ่าฝืน ม.157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากสมาชิกรัฐสภาว่าการทำสีผนังห้องทำงานสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 215 ห้อง ไม่เป็นไปตามแบบและข้อกำหนดในสัญญา อีกทั้งผู้ออกแบบได้ทำการโต้แย้งไว้โดยชัดแจ้งแล้วคือในการก่อสร้างห้องทำงานดังกล่าวมีการประชุม Work Shop เรื่องสีผนังไม้ห้องทำงาน ส.ส. และส.ว. ต่อมาขณะที่สร้างห้องตัวอย่าง (Mock Up Room) กลับมีการก่อสร้างก่อน ทั้งที่ไม่มีการตรวจสอบว่าถูกต้องตามแบบหรือไม่ จนกระทั่งพบว่ามีการก่อสร้างผิดแบบไปถึง 215 ห้อง จากทั้งหมด 750 ห้อง ซึ่งคณะกรรมการตรวจการจ้างได้อนุมัติห้องทำงานที่ก่อสร้างผิดแบบดังกล่าว และต่อมายังมีการแก้ไขสัญญา จึงเห็นว่าการกระทำดังกล่าวไม่ชอบด้วยสัญญาและส่อว่ามีการฝ่าฝืน ม.97 แห่งพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ทำให้รัฐเสียหาย จึงขอให้ป.ป.ช.ดำเนินการตรวจสอบเพื่อพิจารณาความผิดเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, คณะกรรมการตรวจการจ้าง และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องต่อไป