ทุเรียน “ราชาของผลไม้เมืองร้อน” จัดเป็นไม้ผลที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและมีมูลค่าการส่งออกสูง มีการปลูกแทบทุกภาคของประเทศไทย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรรายงานว่า ในปีพ.ศ. 2564 นี้ การส่งออกทุเรียนผลสดตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน มีมูลค่ามากถึง 102,573.7 ล้านบาท ซึ่งมีมูลค่ามากกว่าปี พ.ศ.2563 มากถึง 56.29% (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร,2564) แต่การที่จะยกระดับมาตรฐานของทุเรียนหรือสินค้าผลไม้สดอื่นๆ ของประเทศไทยไปสู่ตลาดโลกนั้นยังคงมีอุปสรรคสำคัญในการส่งออก คือ ปัญหาด้านคุณภาพของผลไม้ จำเป็นต้องมีคุณภาพทั้งภายนอกและภายในที่ดี ตรงตามต้องการของลูกค้า ดังนั้นจึงต้องมีวิธีการตรวจสอบคุณภาพเพื่อประกันคุณภาพของไม้ผลก่อนที่จะส่งออก
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เล็งเห็นปัญหาเรื่องคุณภาพของผลไม้นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการจำหน่ายทุเรียนอ่อน ในช่วงต้นฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียนทุกปีมักประสบปัญหาการตัดทุเรียนอ่อนออกมาจำหน่ายค่อนข้างมาก เนื่องจากผู้รับซื้อหลายรายแย่งกันซื้อทุเรียนเหมายกสวนและแย่งกันตัดทุเรียนเพื่อเก็งกำไรในช่วงเปิดตลาด ปัญหาทุเรียนอ่อนหรือทุเรียนด้อยคุณภาพได้ทำลายความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ส่งผลกระทบต่อตลาดทุเรียนทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงได้นำเทคนิคเนียร์อินฟราเรดสเปคโทรสโกปี (Near Infrared spectroscopy: NIR) มาใช้ในการตรวจสอบความแก่ของทุเรียนแบบไม่ทำลายผลิตผล ซึ่งการใช้เครื่อง NIR ในการตรวจสอบคุณภาพนี้เป็นเทคนิคที่กำลังได้รับความนิยมในการนำมาใช้ประเมินคุณภาพหรือประกันคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตร ให้ข้อมูลทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ ไม่ทำลายตัวอย่าง สามารถประเมินคุณภาพได้สูง ได้ค่าที่ถูกต้อง แม่นยำ ไม่จำเป็นต้องใช้ผู้มีประสบการณ์ มีความรวดเร็ว ไม่ใช้สารเคมีในการวิเคราะห์ ผู้ปฏิบัติงานมีความปลอดภัยและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ผลการทดลองสร้างสมการทดสอบและทำนายคุณภาพของทุเรียน โดยใช้เครื่องเนียร์อินฟราเรดสเปคโทรมิเตอร์ (NIR) แบบพกพา (F-750 Produce Quality Meter; Felix Instruments) พบว่า สามารถทำนายความแก่ของทุเรียนได้แม่นยำ 86 เปอร์เซ็น โดยเทียบกับค่าน้ำหนักแห้งของเปลือกทุเรียน หากมีค่ามากกว่า 28 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นทุเรียนแก่ จากผลการวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าเครื่อง NIR แบบพกพาสามารถคัดความแก่ทุเรียนหมอนทองได้โดยมีความถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว และเชื่อถือได้ ประกอบกับลักษณะตัวเครื่องมีขนาดเล็กสามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย จึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการใช้ประเมินคุณภาพในแปลงปลูก และสามารถนำมาใช้ในการประกันคุณภาพของทุเรียนก่อนส่งออก ลดปัญหาทุเรียนการจำหน่ายอ่อนหรือทุเรียนด้อยคุณภาพ เพิ่มความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ
นอกจากนี้ เทคนิคเนียร์อินฟราเรดสเปกโตรสโกปี (near infrared spectroscopy) เป็นเทคนิคที่ได้รับการยอมรับว่ามีความเหมาะสม มีความแม่นยำ และเชื่อถือได้ สามารถทำนายคุณภาพภายใน เช่น ความหวาน ของผลไม้ได้ สามารถนำมาใช้ในการประกันคุณภาพสินค้าเกษตร เพื่อคัดกรองคุณภาพให้ได้ผลผลิตที่ตรงตามความต้องการของผู้ซื้อและตลาดส่งออก สามารถจำหน่ายได้ในราคาที่สูงขึ้น ดังนั้นรัฐบาลควรส่งเสริมให้มีการนำระบบนี้มาใช้เพื่อเป็นการสร้างศักยภาพ และเป็นการส่งเสริมการตลาดผลไม้สดส่งออกของไทย สามารถเพิ่มปริมาณการส่งออกผลไม้สด ซึ่งส่งผลดีต่อเกษตรกรและเศรษฐกิจของประเทศไทย
สามารถขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ผศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท ภาควิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก โทร. 055-963014 E-mail : peerasakc@gmail.com
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน