เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เวลา 07.30 น. : นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายกมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช.ศธ. และนางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.ศธ. (ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการ รมช.ศธ.) ตรวจเยี่ยมการเปิดเรียนแบบออนไซต์ (On-Site) ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ณ โรงเรียนสาธิตกรุงเทพ
ธนบุรี เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ โดยมี นายประพัทธ์ รัตนอรุณ รองเลขาธิการ คณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และผู้บริหาร (สช.) ตลอดจนนางณัชชา ชัยรุ่งเรือง ผู้จัดการโรงเรียน นางพรรณี กมลเลิศ ผู้อำนวยการโรงเรียน คณะครู บุคลากร เข้าร่วมและนำเยี่ยมชมโรงเรียน รมช.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งว่า กระทรวงศึกษาธิการ ให้ความสำคัญกับการเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 โดยต้องการสร้างความมั่นใจต่อการกลับมาเรียนของนักเรียน ซึ่งรัฐมนตรีและผู้บริหาร (ศธ.) ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการเปิดเรียนวันแรกในหลายจังหวัด เพื่อเป็นกำลังใจ ให้กับโรงเรียน ครู และผู้บริหาร ที่จะกลับมาจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนและสถานศึกษาตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้ความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย รวมทั้งคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัด ที่จะก่อเกิดประโยชน์ทางการศึกษา ต่อลูกหลานของเรา และขอให้ปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข 6 พลัส คูณ 6 มาตรการหลัก DMHT-RC มาตรการเสริม SSET-CQ เพื่อร่วมกันก้าวผ่านสถานการณ์นี้ไปด้วยกัน
จากการตรวจเยี่ยมโรงเรียนสาธิตกรุงเทพธนบุรีแห่งนี้ ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชน ที่อยู่ในการกำกับดูแลของครูโอ๊ะ สามารถเตรียมความพร้อม เปิดภาคเรียนที่ 2 ได้เป็นอย่างดี ทั้งในส่วนของการฉีดวัคชีนครู และบุคลากร ร้อยละ 90.8 และฉีดวัคซีนให้กับนักเรียน ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไปตามความสมัครใจ ร้อยละ 83.70 มีการประเมินความพร้อมของสถานศึกษาป้องกันโรคโควิด-19 ผ่านมาตรฐาน Thai Stop Covid Plus (TSC+) จัดให้มีจุดคัดกรองที่เหมาะสม โดยนักเรียน ครู และบุคลากรทุกคนต้องตรวจด้วยชุดตรวจโควิด-19 แบบเร่งด่วน (Antigen Test Kit : ATK) ในวันเปิดเรียนวันแรก และเป็นประจำทุกสัปดาห์ รวมทั้งการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบ Small Bubble เว้นระยะห่างตามมาตรการ 6 พลัส DMHT-RC (อยู่ห่าง สวมแมสก์ หมั่นล้างมือ ตรวจวัดอุณหภูมิลดความแออัด ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสร่วม) ที่สำคัญคือการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบไฮบริด ระหว่างการเรียนออนไซต์ในห้องเรียนกับการเรียนออนไลน์จากที่บ้านในเวลาเดียวกัน ทำให้นักเรียนไม่สูญเสีย โอกาสทางการเรียนรู้
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน