เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 27 ตุลาคม 64 นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี
เป็นประธานเปิดงานประเพณี แห่รูปเหมือนหลวงปู่ทอกรัก ที่วัดอัมพวัน ซึ่งชาวไทยเชื่อสายรามัญในตำบลบางขันหมาก ซึ่งถือเป็นชุมชนมอญที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดลพบุรีจัดขึ้นมาทุกปี เพื่อเป็นการสืบสานประเพณีของชาวไทยเชื่อสายรามัญและเป็นการแสดงถึงชาวไทยเชื่อสายรามัญที่มีความศัทธาต่อ หลวงปู่ทอกรัก สุวณฺณสาโร (คำอ่าน หลวงปู่-ทอ-กรัก-สุ-วัน-นะ-สา-โร ) อดีตเจ้าอาวาสวัดอัมพวัน ซึ่งในปีนี้ ทางวัดอัมพวันได้จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ โดยทางชาวไทยเชื่อสายรามัญต่างพากันแต่งตัวประจำชาตรามัญ มีขบวม้า ขบวนช้าง ร่วมในขบวนด้วย
สำหรับประวัติของ หลวงปู่ทอกรัก สุวณฺณสาโร (คำอ่าน หลวงปู่-ทอ-กรัก-สุ-วัน-นะ-สา-โร ) อดีตเจ้าอาวาสวัดอัมพวัน(สกุลเดิม ท่อทอง กำเนิดเมื่อ วันศุกร์ ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 11 ปีฉลู พุทธศักราช 2395 ณ บ้านบางขันหมากใต้ โยมบิดามารดาเป็นชาวรามัญ ไม่ทราบนามที่แน่นอน) ท่านได้เข้าสู่ร่มเงาแห่งบวรพระพุทธศาสนาแต่เยาว์วัย โดยได้บรรพชาเป็นสามเณรและได้จำพรรษาอยู่ที่วัดอัมพวัน จนมีอายุครบอุปสมทบ จึงได้อุปสมบท ณ วัดอัมพวัน ตำบลบางขันหมาก และครองสมณเพศ ตลอดมาจนได้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดอัมพวัน เป็นพระอุปัชฌาย์ และเป็นเจ้าคณะตำบลบางขันหมากใต้ ท่านเป็นพระเถระที่เคร่งครัดต่อวัตรปฏิบัติในพระธรรมวินัย ถือสันโดษเป็นผู้มีความเมตตากรุณาเป็นที่ตั้ง ปรากฏเลื่องลือกันทั่ว ท่านเป็นที่เคารพศรัทธาจากญาติโยมศิษยานุศิษย์ทั้งใกล้และไกล นอกจากวัตรปฏิบัติแล้ว ทางด้านวิทยาคมท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ระดับแนวหน้าของจังหวัดลพบุรี มีเรื่องเล่ามากมายที่กล่าวขวัญถึงกิตติศัพท์ด้านวัตถุมงคลของท่าน ที่สามารถสอบถามได้จากปากต่อปากของผู้เฒ่าผู้แก่ในท้องถิ่น ในวันแรม 7 ค่ำ เดือน 11 เป็นวันตักบาตรพระร้อยหรือวันตักบาตรเทโว เช้าวันนั้นท่านนั่งเรือไปรับบาตรจากชาวบ้านเหมือนปกติที่ทำอยู่ทุกปี พอตกเย็นท่านเกิดอาพาธกะทันหันด้วยความชราภาพมาก พระภิกษุสามเณรและคณะศิษย์ให้การอุปัฏฐากดูแลท่านด้วยดี ท้ายสุดท่านก็ได้มรณภาพลงด้วยอาการอันสงบในวันนั้นนั่นเอง ตรงกับวันพุธ แรม 7 ค่ำ เดือน 11 ปีมะแม พุทธศักราช 2486 รวมสิริอายุ 91 ปี พรรษา 70
เมื่อท่านอยู่ในสมณเพศจนมีความชราภาพมาก ศิษยานุศิษย์ได้พาท่านไปถ่ายรูปที่ร้านอมรศิลป์ ในตัวเมืองลพบุรี เมื่อถึงกำหนดวันรับรูปคณะศิษย์ ได้นั่งเรือกระแซงไปรับรูป ซึ่งรูปนั้นมีขนาดใหญ่มาก จึงตั้งรูปกลางลำเรือและพายเรือกลับวัด ตลอดทางประชาชนทั่วไป เมื่อเห็นรูปหลวงปู่กรัก ก็กราบไหว้สักการะกันตลอดทาง เพราะหลวงปู่กรักเป็นพระเถระที่เคร่งครัดในวัตรปฏิบัติ มีชื่อเสียงด้านวิทยาคม เป็นที่เคารพศรัทธา อีกทั้งหลวงปู่กรักท่านยังเป็นพระอุปัชฌาย์จารย์ด้วยจึงมีสัทธิวิหาริกมากมาย เมื่อเห็นรูปอุปัชฌาย์ของตนผ่านมา จึงทำความเคารพกราบไหว้บูชากันทั่วไปตลอดลำน้ำ
เมื่อศิษยานุศิษย์ในเรือได้เห็นเช่นนั้นก็เกิดความปลื้มปิติยินดีเป็นอย่างยิ่ง จึงมีความคิด ที่จะแห่รูปหลวงปู่ทอกรักทุกๆ ปี เพื่อให้ประชาชนคณะศิษย์ใกล้ไกล ทั่วไปได้กราบไหว้บูชากัน โดยกำหนดวันคือ วันแรม 6 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปีเป็นวันที่ทำการแห่หลวงปู่ทางเรือ และในวันรุ่งขึ้นคือวันแรม 7 ค่ำ เดือน 11 เป็นวันตักบาตรเทโวหรือเรียกว่า “ตักบาตรพระร้อย” ของชาวไทยรามัญวัดอัมพวันบ้านบางขันหมากด้วย จึงเกิดประเพณีชักรูปเหมือนหลวงปู่ทอกรัก สุวณฺณสาโร ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ในปีพุทธศักราช 2485 ได้ทำการหล่อรูปเหมือนหลวงปู่ทอกรัก โดยมีพระอาจารย์ฉัว อดีตเจ้าอาวาสวัดมะปรางหวาน สัทธิวหาริกของหลวงปู่ได้จัดสร้างรูปหล่อเท่าองค์จริงของหลวงปู่ขึ้น โดยท่านได้นำช่างปั้น มาปั้นรูปเหมือนหลวงปู่ขณะมีชีวิตอยู่ โดยหลวงปู่ทอกรักนั่งเป็นแบบให้ช่างปั้นด้วย รูปปั้นนั้นมีขนาดเท่าองค์จริง และได้หล่อเป็นรูปเหมือนหลวงปู่ทอกรัก เนื้อสัมฤทธิ์ขึ้น มาเป็นรูปหล่อที่มีลักษณะเหมือนหลวงปู่มากที่สุด ราวกับเป็นองค์ท่านจริงๆ และได้ใช้รูปหล่อนี้แห่ทางเรือแทนรูปถ่าย หลวงปู่จนถึงทุกวันนี้ ภายในงานวัดอัมพวันจัดให้มีการปิดทองรูปหล่อเหมือนหลวงปู่โดยชาวมอญบางขันหมาก จะแต่งชุดไทยรามัญท้องถิ่นของตนเองมาร่วมงาน และมีการละเล่นต่างๆ เช่นการแข่งเรือโบราณพื้นบ้าน ประกวดเรือสวยงาม มีเรือสวยงามพื้นบ้านของชาวบ้านมาร่วมงานกันมากมาย และการแสดงนิทรรศการวิถีชีวิตไทยรามัญ เป็นงานสืบสานวัฒนธรรมประเพณีไทยรามัญ นับว่าเป็นการแสดงความสามัคคีของชาวมอญ
ปัจจุบันประเพณีแห่รูปหลวงปู่กรักได้เปลี่ยนจากทางเรือมาเป็นการแห่ทางรถยนต์แทน ในปัจจุบันการคมนาคมเปลี่ยนไป ทางวัดได้ทำการแห่รูปหล่อหลวงปู่กรักทางบกแทน โดยมีระยะทางคือออกจากวัดอัมพวันแห่รอบหมู่บ้านบางขันหมากไปถึงวัดสิงห์ทอง ออกถนนลพบุรี- สิงห์บุรี และเข้าสู่ตัวเมืองลพบุรีกลับสู่วัดอัมพวัน โดยมีประชาชน ชาวบ้าน ศิษยานุศิษย์จาก ทั่วสารทิศมาร่วมขบวนแห่ผู้ร่วมขบวนจะแต่งชุดไทยรามัญ หรือชุดต่างๆ ร่วมขบวนหลากหลายและมีโรงทานเลี้ยงตลอดเส้นทางที่แห่”
นันท์นภัส วงศ์ใหญ่
ไพรัตน์ ทองแก้ว
ศูนย์ข่าวหนังสือพิมพ์ 5 เหล่าทัพ