ปฏิญญาคุนหมิง (“昆明宣言”)
ข้อมูลเกี่ยวกับการบรรลุ “ปฏิญญาคุนหมิง” (“昆明宣言”) ได้รับรองความหลากหลายทางชีวภาพบนเส้นทางสู่การฟื้นฟูภายในปี ๒๐๓๐ (พ.ศ.๒๕๗๓) ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. การประชุมระดับสูงของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพปี ๒๐๒๐ (ระยะที่ ๑) ได้ปิดลงที่นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ ๑๓ ต.ค.๖๔ โดยที่ประชุมรับรอง “ปฏิญญาคุนหมิง” อย่างเป็นทางการ และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายดำเนินการสร้างประชาคมแห่งชีวิตบนโลก ทั้งนี้ “ปฏิญญาคุนหมิง” เป็นผลลัพธ์หลักของการประชุมครั้งนี้ ซึ่งปฏิญญาดังกล่าวให้คำมั่นที่จะรับรองการพัฒนา การยอมรับ และการดำเนินการตาม “กรอบความหลากหลายทางชีวภาพระดับโลกหลังปี ๒๐๒๐” (“2020年后全球生物多样性框架”) ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อย้อนกลับแนวโน้มปัจจุบันของการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และทำให้มั่นใจว่าความหลากหลายทางชีวภาพอยู่บนเส้นทางของการฟื้นฟูภายในปี ๒๐๓๐ (พ.ศ.๒๕๗๓) จากนั้นจึงบรรลุวิสัยทัศน์ ๒๐๕๐ (พ.ศ.๒๕๙๓) อย่างครอบคลุมของการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ
๒. ปฏิญญาคุนหมิง เป็นคำประกาศสัญญาว่ารัฐบาลจะยังคงร่วมมือเพื่อส่งเสริมการบูรณาการหรือ “กระแสหลัก” (“主流化”) ของการอนุรักษ์และการใช้ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนในการตัดสินใจ เสริมสร้างและสร้างระบบพื้นที่คุ้มครองที่มีประสิทธิภาพ ปรับปรุงกรอบกฎหมายสิ่งแวดล้อมโลกอย่างแข็งขัน เงินทุน เทคโนโลยี และการสนับสนุนการสร้างขีดความสามารถที่จำเป็นในการนำ “กรอบความหลากหลายทางชีวภาพระดับโลกหลังปี ๒๐๒๐” ไปใช้
๓. นายหวง รุ่นชิว (黄润秋) ประธานการประชุม COP15 (การประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ครั้งที่ ๑๕) ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมของจีน (中国生态环境部部长) กล่าวว่า “ปฏิญญาคุนหมิง” เป็นการประกาศทางการเมืองที่มีจุดประสงค์หลักเพื่อสะท้อนเจตจำนงทางการเมืองของทุกฝ่าย การประกาศนี้จะส่งสัญญาณที่ชัดเจน แสดงให้โลกเห็นถึงความมุ่งมั่นของเราในการแก้ปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และแสดงให้เห็นว่าเราจะดำเนินการอย่างจริงจังในประเด็นที่เกี่ยวข้อง
บทสรุป เอลิซาเบธ มูเรมา (Elizabeth Mrema) เลขาธิการสำนักเลขาธิการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ได้กล่าวถึง “ปฏิญญาคุนหมิง” ที่แสดงให้เห็นว่า ทุกฝ่ายตระหนักดีถึงความเร่งด่วนในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพอย่างเต็มที่ ตามคำสัญญาที่ทำโดยประมุขแห่งรัฐและรัฐมนตรีหลายคน ซึ่งคำประกาศนี้จะถูกส่งไปยังสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่เป็นเวทีการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ๒๐๒๒ (พ.ศ.๒๕๖๕) และระยะที่ ๒ ของสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติครั้งที่ ๕ ต่อไป
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
( ข้อมูลจากเว็บไซต์ https://wap.peopleapp.com/article/6330651/6221545 และเว็บไซต์ https://finance.sina.com.cn/jjxw/2021-10-13/doc-iktzqtyu1232930.shtml )
นำเสนอ/รายงาน
ว่าที่ พันตรี กรพด รุ่งหิรัญวัฒน์
ตำแหน่ง เลขาธิการ
สถาบันศึกษาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโครงการเส้นทางสายไหม
20/10/2021