อินโด-แปซิฟิกเป็นคำศัพท์เชิงภูมิยุทธศาสตร์ (geo-strategic term) ที่กำหนดภูมิภาคซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษยชาติมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลกที่มีพลวัตทางเศรษฐกิจการค้ามูลค่าสูงระดับโลก ในขณะเดียวกันก็เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่จีนและสหรัฐฯ ต้องแข่งขันช่วงชิงอิทธิพลผลประโยชน์กัน
สำหรับสหรัฐฯ ซึ่งต้องการรักษาสถานภาพและขยายบทบาทของตนในฐานะมหาอำนาจในภูมิภาคนี้ด้วยการใช้แนวทางด้านการทหารในการลาดตระเวนทางเรือและการวางกำลังทหารในพื้นที่สำคัญ รวมทั้งการเสริมสร้างพันธมิตรทางการเมือง และสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ
ส่วนจีนกำลังพยายามรักษาสถานะที่เป็นอยู่โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ ที่จีนประสบความสำเร็จจากการเป็นคู่ค้าที่สำคัญที่สุดสำหรับประเทศเพื่อนบ้านเกือบทั้งหมด รวมทั้งภายในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จีนได้ขยายอิทธิพลทางการทหารของตนโดยยกระดับกองทัพเรือและกองทัพอากาศให้มีขีดความสามารถในการควบคุมหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ ซึ่งมีประเทศอื่นๆ (เวียดนาม ฟิลิปปินส์ บรูไนและมาเลเซีย) ก็ได้อ้างสิทธิ์เช่นกัน จนเกิดแรงกดดันต่อจีนที่ต้องเผชิญกับการต่อต้าน โดยเฉพาะในช่วงกลางเดือนกันยายนปีนี้ ที่ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ ได้จัดตั้งพันธมิตรทางทหารขึ้นใหม่ที่เรียกว่า AUKUS โดยข้อตกลงส่วนหนึ่งระบุถึงการที่สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรจะจัดหาเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ให้กับออสเตรเลีย ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายต่อความสมดุลทางยุทธศาสตร์ของอำนาจในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก
ทั้งนี้ ผู้สังเกตการณ์ทางทหารวิเคราะห์ว่า จีนกำลังกังวลต่อการมีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ของออสเตรเลียที่จะสามารถขัดขวางไม่ให้เรือดำน้ำของจีนเข้าถึงมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกผ่าน “แนวห่วงโซ่เกาะแรก” (“first island chain”) ที่ทอดยาวระหว่างญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ ในขณะที่สหรัฐฯ ยังคงแสดงบทบาทที่ขัดแย้งกับจีนอย่างรุนแรงต่อกรณีของเกาะไต้หวันซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ
สรุปโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
( ข้อมูลจากเว็บไซต์ https://www.spiegel.de/international/world/indo-pacific-arms-race-the-u-s-and-china-face-off-in-the-far-east-a-6032d1c3-2fb5-4896-a9e4-15c89ea16825 )
นำเสนอ/รายงาน
ว่าที่ พันตรี กรพด รุ่งหิรัญวัฒน์
ตำแหน่ง เลขาธิการ
สถาบันศึกษาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโครงการเส้นทางสายไหม
21/10/2021