ไอ.ซี.ซีฯ ก้าวสู่ยุค 4.0 เปิดมิติใหม่บริการการขาย ประเดิมส่งหุ่นยนต์ “ดินสอ” ประจำการร้านแอร์โรว์ สาขาเทอร์มินอล 21 ก่อนขยายไปแห่งอื่นๆ
นายบุญเกียรติ โชควัฒนา ประธานกรรมการ บริษัทไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559 นี้ บริษัทจะนำหุ่นยนต์ดินสอ ซึ่งเป็นหุ่นยนต์บริการการขายตัวแรกของโลกมาเป็นผู้ช่วยพนักงานขายภายในร้านค้าในกลุ่มของบริษัทประกอบด้วย แอร์โรว์, บีเอสซี คอสเมโทโลจี และวาโก้ โดยประเดิมตัวแรกที่แอร์โรว์ ช็อป ชั้น 2 สาขาเทอร์มินอล 21 ย่านอโศก จากนั้นจะขยายไปตามร้านค้าต่างๆ ในกลุ่มไอ.ซี.ซี เพื่อสร้างสีสันและเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องมือทางการตลาดให้มีความแข็งแกร่งมากขั้น
หุ่นยนต์ดินสอ ถูกพัฒนาและสร้างโดยฝีมือคนไทย 100% โดยบริษัทซีที เอเชีย โรโบติกส์ จำกัด และยังเป็นหุ่นยนต์ตัวแรกที่ประเทศญี่ปุ่นยอมรับและนำไปใช้ในการดูแลผู้สูงอายุ สำหรับหุ่นยนต์ดินสอ ที่บริษัทจะนำมาเป็นผู้ช่วยพนักงานขาย จะสามารถแนะนำการขาย แนะนำโปรโมชั่น และพร้อมชำระเงินได้ครบในกระบวนการในหุ่นยนต์ตัวเดียว อีกทั้งยังสามารถสื่อสารได้หลายภาษา เบื้องต้นจะสามารถตอบโต้ได้ 5 ภาษา คือ ไทย, จีน, อังกฤษ, ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส
“ระยะแรกเราต้องการให้เข้ามาสร้างสีสัน สร้างความสุขให้กับลูกค้า และดึงดูดคนให้เข้ามาในร้านก่อน อีกทั้งยังแก้ปัญหาในเรื่องของภาษาได้อีกด้วย ซึ่งแม้เราจะมีการเทรนพนักงานด้านภาษาแล้ว แต่หุ่นยนต์ตัวเดียวจะสามารถสื่อสารได้ถึง 5 ภาษา สามารถรองรับในพื้นที่อย่างเทอร์มินอล 21 ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่หรือกว่า 80% เป็นชาวต่างชาติ ส่วนที่เหลือเป็นคนไทย แต่สุดท้ายแล้วก็คาดหวังว่าจะช่วยเพิ่มยอดขายให้มากขึ้น”นายบุญเกียรติ กล่าวและว่า ปลายปีนี้เช่นกันจะนำหุ่นยนต์ตัวเลขไปให้บริการที่เคาน์เตอร์เครื่องสำอางของบีเอสซี คอสเมโทโลจี ด้วย
นายเฉลิมพล ปุณโณทก ประธานกรรมการ บริษัท ซีที เอเชีย โรโบติกส์ จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันหุ่นยนต์ดินสอ ถือเป็นรุ่นที่ 3 แล้วโดยสามารถได้ยิน มองเห็น สื่อสาร และต่อเชื่อมกับข้อมูล ยกแขน หยิบสิ่งของได้ ซึ่งโดยรวมแล้วสามารถเข้าใจในพฤติกรรมและสุขภาพอนามัยของมนุษย์ โดยบริษัทตั้งเป้าการผลิตสูงสุด 500 ตัวต่อเดือน แต่ขณะนี้ผลิตอยู่ราว 80-90% เดิมราคาสำหรับตัวใหญ่อยู่ที่ 1 ล้านบาท แต่ปัจจุบันผลิตมากขึ้นราคาจึงปรับลดลง ส่วนหุ่นยนต์ตัวเล็กราคาจะไม่เกิน 1 แสนบาท ขณะที่หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุราคา 8.5 หมื่นบาท และได้ส่งออกไปยังญี่ปุ่นแล้ว 500 ตัว ขณะที่ตัวใหญ่ส่งออกไปสวีเดน