การที่จีนได้เพิ่มงบประมาณการป้องกันประเทศเป็น 6.8% ในปีนี้ เพื่อนำไปสู่การบรรลุความทันสมัยทางทหารอย่างสมบูรณ์ภายในปี 2035 (พ.ศ.2578) และกลายเป็นกองทัพระดับโลกภายในปี 2049 (พ.ศ.2592) โดยมุ่งพัฒนาการใช้เครื่องจักรกลและข้อมูลข่าวสารในการยกระดับไปสู่การเป็นกองทัพในยุคดิจิทัลตามแนวเทคโนโลยีสารสนเทศนำการปฏิวัติด้านการทหาร หรือ RMA (Revolution in Military Affairs)
โดยเฉพาะการปรับปรุงระบบการสั่งการ การควบคุม การสื่อสาร คอมพิวเตอร์ ข่าวกรอง การเฝ้าระวังและการลาดตระเวน (C4ISR) ให้มีความพร้อมใช้งานสำหรับผู้บังคับบัญชาเพื่อรองรับต่อ “สงครามอัจฉริยะ” (“Intelligentized Warfare”) ในยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์, บิ๊กดาต้า, การเชื่อมต่อระหว่างคนกับเครื่องจักร, ระบบไร้คนขับอัตโนมัติ, เครือข่าย 5G และอื่นๆ เพื่อสร้างข้อได้เปรียบทางเทคโนโลยีทางการทหารที่โดดเด่น ดังที่สมุดปกขาวด้านการป้องกันของจีนปี 2019 (พ.ศ.2562) ระบุไว้ว่า สงครามกำลังพัฒนาไปสู่การทำสงครามที่มีข้อมูลข่าวสาร และสงครามอัจฉริยะก็กำลังจะเกิดขึ้น
ทั้งนี้ การพัฒนาของกองทัพจีน (PLA) จะยังคงเชื่อมโยงกับความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างแยกไม่ออก แต่อย่างไรก็ตาม การเสริมสร้างกำลังทางทหารของจีนจะได้รับหลักประกันโดยการเติบโตอย่างต่อเนื่องของค่าใช้จ่ายทางการทหารของประเทศมาเป็นเวลากว่าสองทศวรรษแล้ว และจะเป็นเช่นนี้ต่อไป โดยงบประมาณการป้องกันประเทศของจีนตั้งแต่ปี 1999 – 2008 (พ.ศ.2542 – 2551) ขยายตัวในอัตราร้อยละ 16.2 ต่อปี แนวโน้มนี้โดยทั่วไปยังคงไม่เปลี่ยนแปลงตลอดทศวรรษที่สองของศตวรรษที่ 21 ตัวอย่างเช่น ระหว่างปี 2009 – 2020 (พ.ศ.2552 – 2563) การใช้จ่ายทางทหารของจีนเพิ่มขึ้นจาก 70.3 พันล้านดอลลาร์เป็นประมาณ 179 พันล้านดอลลาร์ โดยเฉพาะระหว่างปี 1997 – 2020 (พ.ศ.2540 – 2563) งบประมาณของ PLA เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 600% (โดยรวมถึงการวิจัยและพัฒนาด้านกลาโหม หรือ R&D)
ด้วยเหตุนี้ อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศของจีนจึงเริ่มผลิตระบบอาวุธใหม่ที่ทันสมัยสำหรับ PLA ซึ่งรวมถึงเครื่องบินขับไล่ J-10 และ J-11 เรือลาดตระเวน Type-055 เรือพิฆาต Type-054D เรือดำน้ำดีเซลไฟฟ้าชั้นหยวน และเรือบรรทุกเครื่องบินอย่างน้อย 3 ลำ นอกจากนี้ การขยายงบประมาณของ PLA เพื่อเป็นกองทุนสนับสนุนโครงการวิจัยและพัฒนาทางทหารใหม่ๆ เช่น เครื่องบินขับไล่ J-20 รวมทั้งขีปนาวุธต่อต้านเรือรบ DF-21D และโครงการเรือดำน้ำนิวเคลียร์พิสัยไกล เป็นต้น ภายใต้การส่งเสริมการทำงานร่วมกันโดยสนับสนุนซึ่งกันและกันระหว่างพลเรือนและกองทัพ
สรุปโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
( ข้อมูลจากเว็บไซต์ https://nationalinterest.org/feature/understanding-china’s-military-spending-195106?page=0%2C1 )
นำเสนอ/รายงาน
ว่าที่ พันตรี กรพด รุ่งหิรัญวัฒน์
ตำแหน่ง เลขาธิการ
สถาบันศึกษาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโครงการเส้นทางสายไหม
21/10/2021