วันนี้ (20 ตุลาคม 2564) พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) และคณะ ลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำเขื่อนแม่กลองและเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี โดยมี นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวต้อนรับและรายงานสถานการณ์น้ำในพื้นที่ นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นำเสนอภาพรวมการบริหารจัดการน้ำตามมาตรการ กอนช. และความก้าวหน้าโครงการผันน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ฯ นายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีกรมชลประทาน นำเสนอแนวทางการบริหารจัดการน้ำเขื่อนแม่กลองและคลองจระเข้สามพัน การเตรียมพื้นที่รับน้ำหลากปี 2564 และการเตรียมการฤดูแล้งปีถัดไป นายสุชีพ มีถม ผู้อำนวยการเขื่อนศรีนครินทร์ และนายอมร แก่นสารี ผู้อำนวยการเขื่อนวชิราลงกรณ นำเสนอแนวโน้มสถานการณ์น้ำ การบริหารจัดการน้ำและความปลอดภัยของเขื่อน และนายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล นำเสนอศักยภาพและการพัฒนาทรัพยากรน้ำบาดาล พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการและประชาชนในพื้นที่ให้การต้อนรับ
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานเกี่ยวข้องบูรณาการความร่วมมือเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากหรือน้ำป่าไหลหลาก และดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุอย่างเคร่งครัด รวมถึงแผนการช่วยเหลือเยียวยาหรือฟื้นฟูให้กลับมาสู่สภาพเดิมโดยเร็วที่สุด โดยให้ครอบคลุมทุกด้านและทั่วถึงทุกกลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งให้อนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด โดยจังหวัดกาญจนบุรี และ สทนช. เร่งรัดการจัดทำแผนหลักแบบบูรณาการเพื่อการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง โดยเสนอผ่านคณะกรรมการลุ่มน้ำ และให้ สทนช. รวบรวมเสนอ กนช. เห็นชอบโดยเร็ว รวมทั้งให้กำหนดหน่วยงานปฏิบัติที่ได้รับมอบหมายเสนอเข้าแผนงาน รวมถึงเน้นย้ำการวางแผนกักเก็บน้ำสำรองทุกแหล่ง ทั้งผิวดินและใต้ดิน ไว้รองรับในช่วงฤดูแล้งหน้าด้วย โดยให้ สทนช. ร่วมกับกรมชลประทาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พิจารณากำหนดแผนการจัดสรรน้ำของอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ์ และเขื่อนแม่กลอง ซึ่งต้องคำนึงถึงการใช้น้ำทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการสนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคให้กับพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยการประปานครหลวง ในช่วงฤดูแล้งที่จะถึงนี้ ให้ทั่วถึงอย่างเท่าเทียมและมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งต้องบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้สอดคล้องกับกฎหมายน้ำด้วย
“แม้ลุ่มน้ำแม่กลองจะเป็นลุ่มน้ำที่มีศักยภาพเก็บกักน้ำได้มาก สามารถส่งน้ำไปช่วยเหลือลุ่มน้ำข้างเคียงได้ก็ตาม แต่ จ.กาญจนบุรี ยังมีพื้นที่ภัยแล้งที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำที่เรียกว่า “อีสานของจังหวัดกาญจนบุรี” ครอบคลุม 5 อําเภอใน จ.กาญจนบุรี ได้แก่ อ.บ่อพลอย อ.หนองปรือ อ.ห้วยกระเจา อ.เลาขวัญ และ อ.พนมทวน จึงได้กำชับให้ สทนช. บูรณาการร่วมกับกรมชลประทาน กฟผ. และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งรัดการดำเนินงานโครงการผันน้ำเขื่อนศรีนครินทร์เพื่อบรรเทาภัยแล้ง จ.กาญจนบุรี ให้บรรลุผลเป็นรูปธรรมและยั่งยืน รวมถึงโครงการต่างๆ ที่ได้รับงบประมาณแล้ว ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
ด้าน นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการ สทนช. เปิดเผยว่า สนทช. ได้ดำเนินโครงการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ แบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ระยะ ระยะที่ 1 โครงการสถานีสูบน้ำจากแม่น้ำแควใหญ่เริ่มดำเนินปี 2566 ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี เมื่อแล้วเสร็จจะสามารถสูบผันน้ำได้ปีละ 27.25 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มีพื้นที่รับประโยชน์ 78,508 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 21,659 ครัวเรือน ระยะที่ 2 โครงการอุโมงค์ผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ เริ่มดำเนินการปี 2568 ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี เมื่อแล้วเสร็จจะผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ตามแรงโน้มถ่วงได้ปีละ 265.50 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 486000 ไร่ มีน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคในเขต อ.เลาขวัญและ อ.ห้วยกระเจา รวม 2.97 ล้าน ลบ.ม./ปี ประชาชนได้รับประโยชน์ 53,810 ครัวเรือน ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชํานาญการพิจารณารายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.)
“ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี’61-64 ) จ.กาญจนบุรี มีแผนงานโครงการด้านน้ำในพื้นที่รวม 1,132 โครงการ เช่น ก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปาส่วนภูมิภาค ก่อสร้างระบบผันน้ำจากแม่น้ำแควน้อย–บ้านไตรรัตน์ และก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำแควน้อย ขณะที่งบประมาณบูรณาการปี’65 จำนวน 39 โครงการ เช่น แก้มลิงบ้านหนองปลาซิว ฝายคลองหมื่นเทพ พร้อมระบบส่งน้ำ ระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนด่านมะขามเตี้ย เป็นต้น ซึ่ง สทนช. จะติดตามและเร่งรัดงานด้านทรัพยากรน้ำทุกโครงการให้เป็นไปตามเป้าหมาย เกิดประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชนตามแผนแม่บทฯ น้ำ 20 ปี” รองเลขาธิการ สทนช. กล่าว