(14 ต.ค.64)เมื่อเวลา14.20น.ที่อาคารรัฐสภา นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.ประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือผ่านเจ้าหน้าที่งานสารบรรณถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีเงินตกหล่นอยู่ 500 ล้านบาท และ 1,000 ล้านบาท จากงบประมาณการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่พร้อมอาคารประกอบ
โดยอ้างตามรายงานการประชุมสภานิติบัญญัติ นายสมชาย แสวงการ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติในขณะนั้น ได้อภิปรายเมื่ออังคารที่ 16 กันยายน 2557 หน้าที่ 184 บรรทัดที่ 21-26 ว่า “เราจะพูดเรื่องไม่มีการทุจริตคอร์รัปชันไม่ได้เลย ถ้าเราที่นั่งทำงานและส่วนสำนักงานที่ต้องทำการเอื้อในการทำงานของพวกเราเป็นแหล่งทุจริตคอร์รัปชันเสียแล้ว นี่รวมถึงท่านประธานครับ ผมอยากฝากท่านนายกรัฐมนตรี ฝากคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ฝาก คสช. ทั้ง 15 ท่าน ท่านไปดูงบประมาณในการก่อสร้างรัฐสภามีเงินตก 2 ก้อนใหญ่เงินจำนวนมากตกไปกับผู้ที่รับไปแล้ว หลักร้อยและหลักพันครับ ใครรับไปผมไม่มีใบเสร็จแต่ข้อมูลนี้รับทราบกันดีในหมู่สมาชิกสภาชุดที่แล้วก็เรียนให้เป็นข้อมูล”และตามรายงานชวเลขพิธีมอบนโยบายการบริหารราชการของประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติแก่คณะผู้บริหารของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร วันพุธที่ 24 กันยายน 2557 ที่ห้องประชุมงบประมาณ ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 3 ศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในขณะนั้น ได้พูดมอบนโยบายการบริหารราชการให้กับข้าราชการระดับสูงเมื่อวันพุธที่ 24 กันยายน 2557 หน้า 16 บรรทัดที่ 5-10 ว่า “รัฐสภาแห่งใหม่ มันเหมือนสิ่งที่หลอกหลอนผม ทั้งที่ผมไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรด้วยเลย แต่ว่าต้องมาดู ดูแล้วก็แทบช็อกบอกว่าสร้างไป 6 เปอร์เซ็นต์เอง เมื่อแทบช็อกสร้างไป 6 เปอร์เซ็นต์ ผมก็เลยไปเอาสัญญามาดู เอามาดูก่อนที่ท่าน สนช. สมชายจะอภิปรายเมื่อวันก่อนว่ามีเงินตกหล่นอยู่ 500 ล้านบาท 1,000 ล้านบาท และมอบให้ผมไปควานหา ผมจะไปหาที่ไหน ผมก็เลยต้องตรวจดูสัญญา ผมไม่เห็นมีสัญญาไหนแย่เท่าฉบับนี้ ถึงได้สร้างได้ 6 เปอร์เซ็นต์”
นายวัชระ กล่าวว่า จากข้อเท็จจริงดังกล่าว โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่พร้อมอาคารประกอบมีการทำสัญญาจ้างเลขที่ 116/2556 และแก้ไขเพิ่มเติม จำนวนเงิน 12,280 ล้านบาท เมื่อมีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้อภิปรายบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ แต่ปรากฏว่าไม่เคยมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนใด ๆ จากหน่วยงานที่รับผิดชอบ จึงขอเสนอให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ เช่นเดียวกับที่ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เรื่องเงิน 5 ล้านบาท กรณีนายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส. พรรคเพื่อไทย ได้อภิปรายไว้ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2564 ทั้งนี้โดยให้มีตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) หรือสำนักงานอัยการสูงสุด หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) หรือสมาชิกวุฒิสภาและหน่วยงานอื่น ๆ ร่วมการสอบสวนด้วย เพราะสภาผู้แทนราษฎรและรัฐสภาควรเริ่มต้นกวาดบ้านตัวเองให้สะอาดปราศจากการคอร์รัปชัน