วันที่ 10 ตุลาคม 2564 : นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดท้องฟ้าจำลองและนิทรรศการ Puzzling Things พร้อมด้วยนายกมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช.ศธ.,นายพะโยม ชิณวงศ์ ประธานคณะทำงาน รมช.ศธ.,นายสุรศักดิ์ อินศรีไกร เลขาธิการ (กศน.) โดยมีนายบุญพาศ รักนุ้ย รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส,นายสุชาติ ถาวระ ผอ.ศว.นราธิวาส ให้การต้อนรับ ณ อาคารดาราศาสตร์ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานราธิวาส
รมช.ศธ. กล่าวว่า ต้องขอชื่นชมความพยายามที่นำไปสู่ความสำเร็จของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานราธิวาส (ศว.นราธิวาส) ในการขับเคลื่อนกิจกรรมการเรียนรู้ ส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมาย ผู้รับบริการทั้งในและนอกระบบโรงเรียน ตลอดจนประชาชนทั่วไป ให้เกิดกระบวนการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาในรูปแบบการจัดกิจกรรมที่หลากหลายทุกคนสามารถเข้ารับบริการได้ตามความต้องการและความพร้อมของตนเอง ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสทางการศึกษา ก่อให้เกิดความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ อีกทั้งยังได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยในพื้นที่
สิ่งสำคัญ คือ การทำงานที่สามารถประสานเชื่อมโยงกับภาคีเครือข่ายและหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ ได้เป็นอย่างดีในการพัฒนาการศึกษา โดยเฉพาะความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อมนั้น ต้องอาศัยทั้งความรู้ ความสามารถ การทุ่มเท และเสียสละการทำงาน ทั้งในส่วนของผู้ปฏิบัติงาน ทั้งในส่วนที่ต้องร่วมกับชุมชน ภาคีเครือข่ายต่างๆ
ในโอกาสนี้ จึงขออนุญาตเป็นตัวแทนรัฐบาล และ (ศธ.) ขอบคุณภาคีเครือข่ายที่ให้การสนับสนุนและมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมกับสำนักงาน (กศน.) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ ศว.นราธิวาส มาเป็นอย่างดี เป็นพันธมิตรที่จริงใจช่วยกันพัฒนาการศึกษา พัฒนาเยาวชน ประชาชน ให้มีความรู้ความสามารถ มีความเข้มแข็งเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นพลังในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาให้ก้าวหน้าต่อไป
ในการนี้ รมช.ศธ. ได้เป็นประธานเปิดงานนิทรรศการ “Puzzling Things“ (สื่อสัมผัส วิทยาศาสตร์ชวนฉงน) โดยกล่าวตอนหนึ่งในพิธีเปิดว่า ศธ. และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ประสานความร่วมมือร่วมใจสนับสนุนการทำงานด้านการศึกษาในเรื่องของวิทยาศาสตร์มาสู่จังหวัดชายแดนใต้ ด้วยข้อจำกัดในเรื่องของงบประมาณ ทำให้เกิดจุดประกายความร่วมมือขึ้นระหว่างสองกระทรวง
จากครั้งที่แล้วที่ได้มาลงพื้นที่ ศว.นราธิวาส ที่นี่ยังไม่ได้มีการพัฒนามากนัก จึงได้กลับไปหาแนวคิดในการใช้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่ง (อว.) มีงบประมาณในด้านการจัดทำกระบวนการเรียนรู้ในเชิงวิทยาศาสตร์ และมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว จึงได้มาร่วมมือกันโดยนำนิทรรศการในองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ที่มีอยู่ นำมาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา โดยให้สำนักงาน (กศน.) ตั้งงบประมาณจำนวนหนึ่งเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ และ (อพวช.) มาช่วยให้ความรู้กับบุคลากร กศน. ตลอดจนนำองค์ความรู้ที่ (อพวช.) มีมาถ่ายทอดให้แก่ประชาชนทั่วไปด้วย
“สุดท้ายนี้อยากให้พี่น้องในจังหวัดนราธิวาส รวมทั้งภาคีทุกเครือข่ายมาสนับสนุนและเติมเต็มการใช้บริการ ทั้งมาศึกษาและท่องเที่ยวที่ ศว.นราธิวาส ซึ่งเป็นมิติที่ก่อเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทุกบุคคลตลอดจนทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืนสืบไป”
อานนท์ วิชานนท์/สรุป
ปรานี บุญยรัตน์/ภาพ
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน