เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2564 : นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมนิทรรศการวิทยาศาสตร์ “การเล่น เรียน รู้ ของเล่นภูมิปัญญาไทย Science in Traditional Toys” ร่วมกับองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) พร้อมด้วย นายกมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช.ศธ.,นายพะโยม ชิณวงศ์ ประธานคณะทำงาน รมช.ศธ.,นายสุรศักดิ์ อินศรีไกร เลขาธิการ (กศน.) โดยว่าที่ร้อยตรีตระกูล โทธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี,นายชัยณรงค์ ป้องบ้านเรือ ศึกษาธิการภาค 7,นายชนินทร วรรณวิจิตร รองผู้อำนวยการ อพวช.,นายวาทิต มีสนุน ผอ.ศปบ.จชต.,นายจตุรภัทร เวชสิทธิ์ ผอ.ศว.ปัตตานี ให้การต้อนรับ ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาปัตตานี
รมช.ศธ. กล่าวว่า ในฐานะที่กำกับดูแลศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ทำให้รับรู้และตระหนักดีว่าการจัดการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์เป็นการจัดการศึกษาที่เสริมสร้างคนให้รู้จักคิด วิเคราะห์ ส่งผลให้ได้รู้จักการใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการคิดที่ถูกต้อง ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนพื้นที่จังหวัดปัตตานี สิ่งสำคัญในการลงพื้นที่ตรวจราชการครั้งนี้ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ แก่คณะครู บุคลากร รวมทั้งพบปะภาคีเครือข่ายของ ศว.ปัตตานี ซึ่งทราบว่ามีความเข้มแข็งอยู่แล้ว เพื่อรับทราบ รับฟังปัญหาจากทุกภาคส่วน เพื่อดำเนินการหาแนวทางแก้ไขและกำหนดแนวทางแก้ไขเชิงนโยบายต่อไป
“ถือเป็นครั้งแรกที่เลขาธิการ กศน. ท่านใหม่ ได้มาลงพื้นและได้เห็นการทำงานของ รมว.ศธ. ที่โดยปกติมักจะรับฟังปัญหากับบุคลากรชั้นผู้น้อย ซึ่งจะไม่ค่อยมีโอกาสแสดงความคิดเห็นและไม่กล้าเสนอเรื่องบางเรื่องให้แก่ผู้บังคับบัญชาได้รับทราบ ซจากการได้คุยกับคนชั้นผู้น้อยจะได้เห็นปัญหาและแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดมากที่สุด
เราพยายามให้คนที่อยู่กับองค์กรของเรา ที่มีความศรัทธา มีความขยัน และมีหัวใจในการทำงาน ได้รับโอกาสในการทำงาน และจะทำให้องค์กรมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในปัจจุบัน อยากให้พี่น้องประชาชนช่วยกันรณรงค์ไปฉีดวัคซีน เพื่อให้สถานศึกษา และเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ซึ่งการทำงานของเราในทุกภาคส่วนได้มีการใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยเฉพาะในเรื่องของการศึกษา บุคลากรในกระทรวงศึกษาธิการต้องร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นเพื่อพัฒนาการศึกษาต่อไป”
ในการนี้ รมช.ศธ. และคณะ ได้เยี่ยมชมนิทรรศการการเล่น เรียน รู้ ของเล่นภูมิปัญญาไทย โดยภายในงานฯ มีของเล่นภูมิปัญญาไทยมากมาย อาทิ หนูกะลา หนอนดิน รถหลอดด้าย ทั้งนี้ รมช.ศธ.ได้สาธิตวิธีการเล่น “ลูกข่างหมุน” ซึ่งเป็นการหมุนรอบแกนด้วยแรงที่เท่ากันทุกทิศทางทำให้ลูกข่างหมุนอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะมีแรงอื่นมากระทำ เป็นไปตามกฎของนิวตั้นข้อหนึ่งที่ว่า “วัตถุจะสามารถรักษาสภาพการเคลื่อนที่ให้คงที่จนกว่าจะมีแรงอื่นมากระทำให้หยุดลง” รวมทั้งเยี่ยมชมนิทรรศการ “เทคโนโลยีดิจิทัลสู่โลก อนาคต” มีการจัดบู๊ทต่างๆ อาทิ เทคโนโลยีสื่อสารและอวกาศ, อะไร อะไรก็…โดรน DRONE,เทคโนโลยีด้านสุขภาวะ Gadgets ล้ำสมัย และร่วมปลูกต้นชะบา บริเวณหน้าอาคารศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาปัตตานี
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน