1. Social game แนวโน้มใหม่ที่สังคมไทยต้องปรับตัว
ตัวอย่างล่าสุดคือ โปเกม่อน แนวโน้มเกมจะปรับตัวจากการนั่งเล่นในพื้นที่ส่วนตัว ในฉากส่วนตัว มาเป็นการใช้พื้นที่สาธารณะเป็นฉาก และเล่นกันแบบเหมือนจริงมากขึ้น ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสียมากมาย ในภาคธุรกิจจะต้องปรับตัวมหาศาล เพราะเกมมีผลต่อพฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภคมานานแล้ว แต่นี่จะยิ่งเข้าใกล้กับธุรกิจอย่างมาก
ในแง่การส่งเสริมนั้น เกมพวกนี้จะสร้างประโยชน์เสริมต่อกับธุรกิจท่องเที่ยวและการบริการแนวใหม่ ทางกระทรวงดิจิทัลฯจะร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางและกิจกรรมในการนำเสนอเพื่อทำให้เกมเหล่านี้กลายมาเป็นประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เพราะเกมนั้นเป็นภาษาสากล และการต่อรองในภาพรวมดีกว่าการปล่อยให้เอกชนรายเล็กเข้าต่อรองซึ่งจะส่งผลต่ออำนาจการต่อรอง
การวางกฎระเบียบใหม่ๆ เพื่อก้าวตามให้ทันพฤติกรรมยุคดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงการเข้ามาดูแลเรื่องการทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านทางเกมเหล่านี้จะต้องเป็นหน้าที่ของภาครัฐในการดูแล ซึ่งทั้งในส่วนของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) และหน่วยงานทางด้านการรักษาความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ต จะมีทั้งแนวทางส่งเสริมและควบคุมไม่ให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคเสียเปรียบ
2. sensor everything อุตสาหกรรมไทยต้องคิดใหม่ทำใหม่
IoT ได้เริ่มการเดินทางของมันแล้ว โลกต้องการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กับสิ่งนี้ ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมต้องปรับตัวยกใหญ่ เพราะสินค้าทุกอย่างจะมีเซ็นเซอร์เป็นพื้นฐาน และต้องมีซอฟต์แวร์เป็นตัวสั่งงาน การออกแบบสินค้าอุตสาหกรรมธรรมดาจะถูกเปลี่ยนแปลง
การจัดการของภาครัฐ : IoT security, IoT Analytics, IoT Device Management, Low power-Short range IoT Networks, Low power Wide-area Networks, IoT Processors, Iot Operating Systems, Event Stream Processing, Iot Platforms, IoT Standards and Ecosystems
แม้ว่าการเริ่มต้นของ IoT จะเกี่ยวพันกับอุปกรณ์เซ็นเซอร์เป็นอันดับแรก ดังนั้นภาครัฐที่จะปลุก IoT ให้กับประเทศจะเข้ามาดูแลเรื่องการสร้างเซ็นเซอร์ทั้งในส่วนของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ให้ธุรกิจแนวนี้เกิดเป็นฐานรากของประเทศให้ได้ เพราะแม่ว่า IoT เกิดขึ้นจากต่างประเทศแต่อย่างน้อยการดูแลรักษาในระยะยาวก็จะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศอย่างมาก อีกทั้งการมุ่งให้ SMEs ของไทยใช้จุดเด่นของ IoT มาสร้างจุดขายใหม่ ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่ภาครัฐต้องเร่งให้ความรู้ และลงไปสนับสนุนอย่างจริงจัง ซึ่งทางกระทวงดิจิทัลจะคิดโครงการและเตรียมประสานงานเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังต่อไป
3. start-up โลกใหม่ของธุรกิจไทยกับผลกระทบ
เทคสตาร์ทอัพ จะเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจแบบเดิม ประการแรกคนเก่งจะกระโดดออกจากอุตสาหกรรมเดิม จะเกิดบริษัทเล็กๆ ที่มีมูลค่ามหาศาล และพร้อมให้บริษัทใหญ่ในโลกเก่าเข้าเทคโอเวอร์ จะเกิดธุรกิจใหม่ล้มธุรกิจแบบเดิมอย่างรวดเร็วเกินการปรับตัว พร้อมดูดทรัพยากรที่ธุรกิจเดิมเคยครอบครองอยู่ เป็นการแย่งชิงเพื่อสร้างความเติบโตอย่างรวดเร็ว
แม้ช่วงนี้ภาครัฐจะเข้ามาเร่งสร้าง ecosystem ของเทคสตาร์ทอัพในไทยให้เติบโต แต่หลายอย่างไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินทุน กฎหมายที่เกี่ยวข้อง การสร้างพันธมิตรระดับโลก และอื่นๆ หน่วยงานภาครัฐยังสู้ภาคเอกชนไม่ได้ ในช่วงแรกก็ยังคาดว่าจะมีเทคสตาร์ทอัพที่แข็งแกร่งเติบโตขึ้นได้อยู่ จำเป็นต้องดึงเทคสตาร์ทอัพเหล่านี้มาถ่ายทอดองค์ความรู้ และทำงานแก้ไขจุดต่างๆ เพื่อสร้าง ecosystem ให้สมบูรณ์
ขณะเดียวกันก็ต้องแก้ไขปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงานทั้งสองส่วนคือ ในส่วนของเทคสตาร์ทอัพเองนั้นก็ยังขาดแคลนคนอย่างมาก และในส่วนของอุกสาหกรรมซอฟต์แวร์ และอุตสาหกรรมต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ระบบไอที ที่ส่งผลกระทบตามมาในระยะยาว ทางกระทรวงดิจิทัลจะมีแผนทั้งระยะสั้นและระยะยาวเพื่อป้อนกำลังคนเข้ามาแก้ปัญหาทั้งระบบ ซึ่งในเบื้องต้นจะเร่งในส่วนของภาคการศึกษาที่ต้องผลิตคนที่มีความสามารถป้อนเข้าระบบมากขึ้น และจะต้องมีการสนับสนุนการอบรมต่อหลังจากที่กลุ่มแรงงานพวกนี้เข้าสู่ระบบเรียบร้อยแล้ว
4. Chat Bot บริการใหม่ยุค Big Data และ AI ครองเมือง
จากการเปิดโลก Open data ของรัฐบาลไปสู่การสร้าง Big Data นั่นจะนำไปสู่การสร้าง Chat Bot ที่ตอบโต้ผู้ใช้เหมือน Siri แต่จะเป็นการให้บริการภาครัฐ ที่ต่อไประบบจะฉลาดและให้บริการลงลึกแบบ Customize
ภาครัฐโดยสรอ. หรือสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) จะมีโครงการนำร่องในด้านนี้ จากเดิมที่ระบบตอบคำถามเรื่องบริการของภาครัฐขณะนี้จะมุ่งเน้นไปที่ระบบ Call Center 1111 แต่ถือว่าเป็นระบบที่ยังใช้ต้นทุนสูงและยังให้บริการไม่ทั่วถึง รวมถึงระบบข้อมูลที่สนับสนุนยังไม่ฉลาดเพียงพอ แต่หลังจากที่สรอ.เข้ามาดูแลเพื่อทำระบบ Open Data และทำระบบ Big Data ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย มีการนำข้อมูลภาครัฐมาบูรณาการและสร้างระบบการสืบค้นที่ฉลาด และมีการพัฒนาต่อยอดระบบอับดุล ที่สวทช.คิดค้นเมื่อหลายปีก่อน ก็จะสามารถทำให้เกิดระบบ Chat Bot เกิดขึ้นในเมืองไทยได้
โดยประชาชนจะสามารถถามคำถามเหมือนกับระบบสิริในไอโอเอส และจะมีการตอบคำถามกลับในเรื่องต่างๆ ของประเทศ โดยสามารถ Customize คำตอบให้กับผู้ถามในแต่ละคนได้ คาดว่าระบบนี้จะสามารถทดลองใช้ได้ภายใน 2 ปีต่อจากนี้
5. The On-Demand Economy รัฐไทยจะรับมือกับ GIG Economy
จากปัญหาการจราจร การเติบโตของโครงสร้างเครือข่ายอินเทอร์เน็ต จะทำให้พวกมืออาชีพกลายเป็นฟรีแลนซ์ และรับจ้างงานแบบ on demand โครงข่ายนี้จะใหญ่โตขึ้น และเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจ้างงานไปทั่วโลก (GIG Economy)
ในแง่ของภาครัฐกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ของโลกที่จะจัดการเรื่องภาษีและการดูแลสวัสดิภาพของคนเหล่านี้อย่างไร
โดยกระทรวงดิจิทัลจะเข้าไปเป็นแม่งานศึกษาแนวทางการดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง แต่จะไม่มีการปิดกั้นระบบนี้เนื่องจากเป็นทิศทางของโลก และจะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง เพื่อทำให้การดูแลอย่างเป็นธรรมเกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็จะหาแนวทางส่งเสริมเนื่องจากถือว่าเป็นการลดปัญหาการจราจรและนำแรงงานเข้าสู่ระบบได้
6. Software as a Service is free
ในประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จแล้วอย่าง Builk ที่ทำแพลตฟอร์มทางด้านธุรกิจการก่อสร้างให้ผู้รับเหมาทั่วประเทศใช้ฟรี ต่อไปจะเกิดแพลตฟอร์มเฉพาะทางลงลึกทางภาคธุรกิจต่างๆ เกิดขึ้น ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งใครครองแพลตฟอร์มได้ก่อนจะเกิดประโยชน์อย่างมาก เพราะสามารถคุมอุตสาหกรรมนั้นได้ทั้งหมดในอนาคต ทั้งข้อมูลและระบบอีคอมเมิร์ช
ขณะนี้ภาคเอกชนของไทยรุกในส่วนของการสร้างแพลตฟอร์มทางธุรกิจมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนับสนุนอย่างมาก เพราะการคุมแพลตฟอร์มได้ก็เท่ากับจัดวางโครงสร้างของธุรกิจกลุ่มนั้นได้ไปในตัว ดังนั้นภาครัฐต้องขยับตัวให้ภาคเอกชนที่มีความสามารถและเข้าใจในธุรกิจกลุ่มต่างๆ ที่รัฐเห็นความสามารถในการสร้างแพลตฟอร์มแข่งกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกได้ ต้องทำให้กลุ่มนี้เร่งเติบโตและกลุ่มธุรกิจยินดีเข้าไปใช้แพลตฟอร์มดังกล่าวมากขึ้น ซึ่งจะเป็นทั้งแผนระยะสั้นและระยะยาวที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ คาดว่าหลังจากที่กลุ่มก่อสร้างขยับตัวไปแล้ว กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มเกษตรกรรม รวมถึงกลุ่มลอจิสติกส์ จะต้องเกิดแพลตฟอร์มขึ้นต่อไป
7. electronics payment จะมาแทนการเงินแบบโบราณ
ประเทศไทยเริ่มระบบ พร้อมท์เพย์ เพราะเห็นว่าการใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์แทนเงินจริงจะช่วยลดต้นทุนต่างๆ ทางภาคธุรกิจได้อย่างมาก และในโลกธุรกิจจริงก็มีระบบการเงินอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศมากมายที่กำลังท้าทายระบบการเงินแบบเดิม ซึ่งภาคธุรกิจต้องเร่งปรับตัวรองรับเพราะจะกระทบกับการทำธุรกิจโดยตรง
ขณะนี้กระทรวงดิจิทัลฯ เองก็กำลังจับตาระบบ Block Chain อย่างจริงจัง มีทั้งศึกษาข้อดีข้อเสีย และการเชื่อมระบบเพื่อเข้ากับระบบพร้อมพ์เพย์ของรัฐบาลที่เพิ่งประกาศใช้ไป ส่วนระบบพร้อมพ์เพย์จะมีการขยายระดับการใช้งานให้มากขึ้นเพื่อนำระบบธุรกรรมต่างๆ ที่เคยอยู่นอกระบบเข้ามาสู่ในระบบโดยจะต้องเร่งสร้างแรงจูงใจทางด้านต่างๆ เข้ามาช่วย และคาดว่าภายใน 2 ปีระบบธุรกรรมทางการเงินของประเทศจะเข้าสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้มากกว่า 50%
8. The Sharing Economy
แนวโน้มของระบบเศรษฐกิจแบบนี้เติบโตมาอย่างต่อเนื่องตามการเติบโตของระบบไอทีโลก เราได้เห็นการฟังเพลงฟรี ดูหนังฟรี เราได้เห็นระบบคลาวด์ที่เป็นการแบ่งปันทรัพยากรต่างๆ กัน โดยที่ผู้คนไม่สนใจว่าจะต้องเป็นทรัพยากรของตน เราจะได้เห็นการแบ่งปันการใช้งานทรัพยากรตัวอื่นๆ มากขึ้น เช่น รถ อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการทำงาน ของเสียของอีกที่หนึ่งจะเป็นของดีของอีกที่หนึ่ง
ระบบนี้จะส่งผลดีต่อประเทศในระยะยาว ดังนั้นภาครัฐจะมีการศึกษาในด้านการส่งเสริมระบบการแบ่งปันในภาคธุรกิจก่อนเป็นอันดับแรก โดยจะมีการสร้างแรงจูงใจในช่วงแรก อาจจะเป็นมาตรการทางภาษี หรืออื่นๆ เพื่อทำให้ระบบนี้เกิดขึ้นในเมืองไทย และเกิดขึ้นแบบยั่งยืน เพื่อลดการสูญเสียทางด้านทรัพยกรลงไป ส่วนในภาคประชาชนจะมีการบริการภาครัฐที่ลงมาเชื่อมต่อกับภาคประชาชนไม่ว่าจะผ่านระบบ Open Data และอื่นๆ เกิดขึ้น คาดว่าจะมีบริการใหม่ๆ ที่อยู่ในเงื่อนไขการแบ่งปันใช้งานเกิดขึ้นจำนวนมากจากภาครัฐในเร็วๆ นี้
9. Hybrid Cloud Adoption การปรับตัวครั้งใหญ่ของภาคธุรกิจไทย
การมาของเทคโนโลยี Hybrid Cloud จะทำให้การจัดสรรทรัพยากรทางด้านไอทีของภาคธุรกิจในไทยเปลี่ยนแปลงไป จากเมื่อก่อนที่แยกระหว่าง Private Cloud กับ Public Cloud ชัดเจนมาก แต่เมื่อระบบคลาวด์มีความเก่งมากขึ้น ก็สามารถจัดการทรัพยากรได้แบบผสมผสาน เลือกการใช้งานอย่างถูกต้องเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจ
ภาครัฐเองก็ทำระบบคลาวด์ภาครัฐอยู่แล้วและเข้ามาศึกษาระบบ Hybrid Cloud อย่างจริงจัง และได้เริ่มทดลองใช้บ้างแล้ว และในไม่ช้าจะมีการร่างระเบียบการใช้งานต่างๆ ที่เป็นมาตรฐานการให้บริการเกิดขึ้นมา ซึ่งในส่วนของภาคธุรกิจและประชาชนจะได้ประโยชน์จากการขยับตัวครั้งนี้ของภาครัฐตามไปด้วย เพราะระบบคลาวด์แบบไฮบริดจ์จะมีเงื่อนไขมาตรฐานเพื่อเป็นเงื่อนไขในการใช้บริการต่อไป ซึ่งจะทำให้การปรับตัวของธุรกิจไทยไม่ยากลำบากมากนัก
10. การเกิดขึ้นของกระทรวงเศรษฐกิจดิจิทัล
ประกาศตั้งกันไปเรียบร้อยสำหรับกระทรวงใหม่ของไทย ทดแทนกระทรวงไอซีทีที่ถูกยุบไป การมีคณะกรรมการ DE ที่ได้เงินจากกสทช.เพื่อมาเปลี่ยนแปลงโครงสร้างไอทีของประเทศ ถือว่าเป็นจำนวนเงินที่อักโขอยู่ คราวนี้ก็อยู่ที่ว่าจะใช้กันเป็นหรือไม่ ถ้าภาครัฐยังคิดแบบเก่ารับรองเทคโนโลยีใหม่ที่ไปเร็วเหลือเกินจะทำให้ภาคเอกชนไทยปรับตัวไม่ทันแน่นอน การทำให้ซอฟต์แลนดิ้งของเอกชนกับเทคโนโลยีใหม่ไม่ส่งผลกระทบมากนักก็ถือว่ากระทรวงใหม่ควรเข้ามาจัดการ