เปิดคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดี พี่น้องตระกูล “ศรีสกุลภิญโญ” แจ้งความกองปราบฯ ฉ้อโกงหุ้นบริษัทสตาร์มาร์คแมนูแฟคเชอร์ริ่ง จำกัด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 ศาลแขวงพระนครเหนือ (ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ) อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีที่ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 1 เป็นโจทก์ โดยมีนายสมชาย ศรีสกุลภิญโญ ผู้ก่อตั้งบริษัท สตาร์มาร์คแมนูแฟคเชอร์ริ่ง จำกัด ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ เครื่องหมายการค้า “สตาร์มาร์ค” รายใหญ่ของประเทศ เป็นโจทก์ร่วม ยื่นฟ้อง นายพีรพัฒน์ หรือพัฒน์ปกรณ์ ศรีสกุลภิญโญ กับพวกรวม 4 คน ซึ่งเป็นพี่น้องกับนายสมชายฯ โจทก์ร่วมในคดีนี้ ในข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกง” ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 2 คนๆ ละ 3 ปี ก่อนศาลอุทธรณ์จะพิพากษาแก้เป็นลงโทษจำคุก 2 คนละ 2 ปี นอกนั้นให้เป็นไปตามคำพิพากษาชั้นต้น โดยระบุว่า “บริษัทฯ ไม่น่าจะเป็นของครอบครัว ซึ่งเป็นของพี่น้องทุกคนมาตั้งแต่แรก” ด้วย
ศาลอุทธรณ์ : 27 พฤษภาคม 2564 พนักงานอัยการสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ นายสมชาย ศรี สกุลภิญโญ โจทก์ร่วม นายพีรพัฒน์ หรือพัฒน์ปกรณ์ ศรีสกุลภิญโญ จำเลยที่ 1.นายธวัชชัย หรือ ธนัฏฐ์โชค ศรีสกุลภิญโญ จำเลยที่ 2.นางสาวกรองกาญจน์ หรือจารวี อารยะญาณ หรือ ชลัมพ์ภากร จำเลยที่ 3 และนายพันธ์ศักดิ์ วสันตกิจกำจร จำเลยที่ 4 เรื่อง ฉ้อโกงโจทก์ร่วม จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์คำพิพากษาศาลแขวงพระนครเหนือ ลงวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ.2562 ศาลอุทธรณ์รับวันที่ 9 เมษายน 2563
โจทก์ฟ้องว่าเมื่อระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ถึงปลายเดือนพฤศจิกายน 2558 ต่อเนื่องกันทั้งเวลากลางวันและกลางคืนจำเลยทั้ง 4 กับพวกรวม 5 คนร่วมกันหลอกลวง นายสมชาย ศรีสกุลภิญโญ ผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอก ให้แจ้งว่าจะนำบริษัท สตาร์มาร์คแมนูแฟคเชอร์ริ่ง จำกัด เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อเพิ่มมูลค่าราคาหุ้น ทำให้ราคาหุ้นสูงขึ้นมากผู้เสียหายในฐานะผู้ถือหุ้น จะได้รับประโยชน์เป็นเงินจำนวนมากจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ แต่ผู้เสียหายต้องโอนหุ้นของผู้เสียหายร้อยละ 4.5 ของหุ้นทั้งหมดจำนวน 18,000 หุ้นให้แก่ นางสาวนันทนา ศรีสกุลภิญโญ พวกของจำเลยทั้ง 4 ถือไว้แทนเป็นหุ้นกองกลาง เพื่อใช้บริหารราคาหุ้นทำกำไร หลังจากบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้ว และผู้เสียหายต้องลาออกจากการเป็นกรรมการของบริษัทฯ เพราะการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต้องกู้เงินจากสถาบันการเงินประมาณ 300 ล้านบาท กรรมการของบริษัททุกคนต้องค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าว ซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงจำเลยทั้ง 4 กับพวกไม่มีเจตนาจะนำบริษัทฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินกรรมการของบริษัททุกคนไม่ต้องค้ำประกันเงินกู้จำเลยทั้ง 4 กับพวกต้องการหลอกลวงให้ผู้เสียหายโอนหุ้นของบริษัทฯ ให้จำเลยทั้ง 4 กับพวกและต้องการให้ผู้เสียหายลาออกจากกรรมการของบริษัทฯ การหลอกลวงดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้เสียหายหลงเชื่อโอนหุ้นของผู้เสียหาย 18,000 หุ้นราคาหุ้นละ 100 บาทให้แก่นางสาวนันทนาฯ และลาออกจากการเป็นกรรมการของบริษัทฯ ทำให้จำเลยทั้ง 4 กับพวกได้หุ้นดังกล่าวจากผู้เสียหายและได้สิทธิ์ในการบริหารบริษัทฯ
ต่อมาวันที่ 4 เมษายน 2560 พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาจำเลยทั้ง 4 ชั้นสอบสวนจำเลยทั้ง 4 ให้การปฏิเสธ เหตุเกิดที่ ตำบลท่าทราย อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร,แขวงฉิมพลี เขตตลิ่งชัน,แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา และ แขวงคลองต้นไทร เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร เกี่ยวพันกัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83,341 และให้จำเลยทั้ง 4 ร่วมกันคืนหุ้น 18,000 หุ้น หรือใช้ราคาแทนเป็นเงิน 1,800,000 บาท แก่ผู้เสียหาย จำเลยทั้ง 4 ให้การปฏิเสธ ระหว่างพิจารณานายสมชาย ศรีสกุลภิญโญ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 (เดิม) ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 3 ปี กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันคืนหุ้นของบริษัท สตาร์มาร์คแมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด จำนวน 18,000 หุ้น แก่โจทก์ร่วม หากไม่สามารถคืน หุ้นได้ ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 1,800,000 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 4
โจทก์ร่วม จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ร่วมจำเลยที่ 1 ที่ 2 และ นางสาวนันทนา ศรีสกุลภิญโญ เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันและจำเลยที่ 4 เป็นน้องภรรยาของจำเลยที่ 1 ก่อนเกิดเหตุโจทก์ร่วมเป็นผู้ถือหุ้นหนึ่งในเจ็ดคนของบริษัท สตาร์มาร์คแมนูแฟคเชอร์ริ่ง จำกัด มีหุ้น 98,000 หุ้นต่อมาวันที่ 3 เมษายน 2558 โจทก์ร่วมโอนหุ้นบริษัทจำนวน 18,000 หุ้นให้นางสาวนันทนาฯ และลาออกจากการเป็นกรรมการของบริษัทฯ โดยจดทะเบียนออกจากการเป็นกรรมการวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ต่อมาวันที่ 8 ธันวาคม 2558 นางสาวนันทนาฯ ทำสัญญาโอนหุ้นจำนวน 80,000 หุ้นให้จำเลยที่ 4 และในวันเดียวกันได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้นจากนางสาวนันทนาฯ เป็นชื่อจำเลยที่ 4 ที่โจทก์ร่วมอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 4 ในความผิดฐาน “รับของโจร” โดยอ้างว่าการโอน ขายหุ้นระหว่างนางสาวนันทนาฯ กับจำเลยที่ 4
สืบเนื่องจากโจทก์ร่วมถูกหลอกให้โอนหุ้นแก่นางสาวนันทนาฯ การรับโอนหุ้นของจำเลยที่ 4 จึงเป็นการกระทำไม่สุจริตและเป็นการฉ้อฉล เพื่อไม่ให้โจทก์ร่วมติดตามหุ้นคืนได้เป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาแตกต่างจากข้อเท็จจริงที่โจทก์ฟ้อง เป็นเพียงข้อแตกต่างที่ไม่ใช่สาระสำคัญและจำเลยที่ 4 มิได้หลงต่อสู้ ศาลมีอำนาจลงโทษ ฐานรับของโจรได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคสาม เห็นว่าจำเลยที่ 4 ให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ข้อหาฉ้อโกง ศาลชั้นต้นวินิจฉัยโดยฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 4 ไม่มีส่วนร่วมกระทำการใดขนาดตกลงโอนหุ้นของโจทก์ร่วมให้ นางสาวนันทนาฯ และมิได้วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 4 มีการกระทำไม่สุจริตแต่อย่างใด
โจทก์ร่วมอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 4 ฐานรับของโจร นั้นเห็นว่าอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นรับฟังจากการพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง จำเลยที่ 4 เพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายหาใช่เป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย ไม่ อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมไม่ปรากฏว่าผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือมีความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ได้จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาตรา 22 ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ว่าความผิดฐานฉ้อโกงต้องเป็นการกระทำโดยทุจริตหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง ข้อความอันเป็นเท็จหมายความว่าข้อความที่แสดงเป็นเหตุการณ์ข้อเท็จจริง และเหตุการณ์ข้อเท็จจริงนั้นไม่ตรงกับความจริงในขณะ ที่แสดงอาจเป็นข้อเท็จจริงในอนาคตย่อมจะเป็นการกล่าวหาไม่ได้ เพราะการกล่าวถึงเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดจะเป็นเท็จในขณะที่กล่าวไม่ได้ทางนำสืบโจทก์เป็นเรื่องการกล่าวถึงการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตั้งใจจะนำบริษัทฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และวิธีการนำเข้าจดทะเบียนเป็นเหตุการณ์ในอนาคตซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็นำสืบรับถึงความต้องการที่จะนำบริษัทฯทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จริง
ในวาระการประชุมที่ 6 มีการชี้แจงรายละเอียดถึงเรื่องนี้แต่อุปสรรคที่ทำให้การนำบริษัทฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ยังไม่สำเร็จเห็นว่าบริษัท สตาร์มาร์คแมนูแฟคเชอร์ริ่ง จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อปี 2534 ขณะก่อตั้งมีเพียงโจทก์ร่วม และนายปรีชาฯ เป็นกรรมการและผู้ถือหุ้น และมีภรรยาของโจทก์ร่วมและภรรยาของนายปรีชาฯ ร่วมเป็นผู้ถือหุ้นส่วนพี่น้องของโจทก์ร่วมคนอื่นถือหุ้นในจำนวนน้อยมีลักษณะเป็นการถือหุ้นให้ครบตามจำนวนที่กฎหมายกำหนดไว้ในการจัดตั้งบริษัทที่ต้องมีผู้ร่วมก่อการจำนวน 7 คนตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้นในขณะที่มีการจัดตั้งบริษัทแต่อย่างใดแต่เข้าถือหุ้นเมื่อปี 2546
หลังจากจัดตั้งบริษัทเป็นเวลาถึง 12 ปี และเข้าเป็นกรรมการ ของบริษัทฯ เมื่อปี 2550 บริษัทฯ จึงไม่น่าจะเป็นของครอบครัว ซึ่งเป็นของพี่น้องทุกคนมาตั้งแต่แรก การรับฟังข้อเท็จจริงของศาลชั้นต้นได้ความจากพยานบุคคล พยานเอกสาร และวัตถุพยานที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มารับฟังตามลำดับช่วงเวลาที่เกิดเหตุตั้งแต่ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ที่มีการพูดคุยเรื่องที่จะนำบริษัทฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะทำให้ผู้ถือหุ้นมีรายได้จากการนำบริษัทฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้นเหตุให้เกิดปัญหาคดีนี้หลักเกณฑ์การนำบริษัทฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีระเบียบกำหนดไว้ชัดเจน หากดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอน ที่กำหนดจะไม่เกิดปัญหาแต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่มีการดำเนินการตามขั้นตอนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการนำบริษัทฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
จึงก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ฟ้องร้องเป็นคดีความหลายเรื่อง ข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความว่ามีการพูดคุยระหว่างผู้เกี่ยวข้องในคดีนี้แล้ว จึงมีการโอนหุ้นให้แก่กัน และโจทก์ร่วมลาออกจากการเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทฯ หลังจากที่โจทก์ร่วมออกจากการเป็นกรรมการบริษัทฯ จำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้ามาเป็นกรรมการของบริษัทฯต่อ นางสาวนันทนาฯ โอนขายหุ้นไปให้แก่จำเลยที่ 4 โดยไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 บอกว่าจะให้หุ้นในส่วนที่นางสาวนันทนาฯ ถือไว้แทนเพื่อทำกำไรจากการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ได้อีกต่อไป และแคชเชียร์เช็คที่นำมาชำระค่าซื้อหุ้นมีการหักเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 และสั่งจ่ายให้แก่จำเลยที่ 4 ซึ่งต่อมาจำเลยที่ 4 ได้นำเงินตามเช็คที่ได้รับจากจำเลยที่ 1 ดังกล่าวไปจ่ายเป็นค่าหุ้นให้แก่นางสาวนันทนาฯ มีระยะเวลาห่างกันเพียง 4 วัน เชื่อว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนร่วมรู้เห็นเกี่ยวกับการโอนขายหุ้นระหว่างนางสาวนันทนาฯ กับจำเลยที่ 4
และยังมีการร่วมกันจัดตั้งบริษัท สตาร์มาร์ค (ประเทศไทย) จำกัด ขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนทำสัญญากับลูกค้าที่เคยเป็นลูกค้าของบริษัทฯ ตามสัญญาเอกสารหมายเลข จ.21,จ.22,จ.26,จ.29,จ.35 และจ.36 โจทก์ร่วมไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท สตาร์มาร์ค (ประเทศไทย) จำกัด ด้วย คงมีแต่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 นางสาวนันทนาฯ และนางพรเพ็ชร วสันตกิตกำจร เป็นผู้ถือหุ้นและมีจำเลยที่ 1,จำเลยที่ 2 และนางสาวนันทนาฯ สลับกันเข้าเป็นกรรมการ ทั้งที่เดิมมีบริษัท สตาร์มาร์ค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทฯในเครือทำหน้าที่เป็นตัวแทนขายให้แก่บริษัทฯ อยู่แล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทฯ ยังร่วมกันแก้ไขวัตถุประสงค์ของบริษัทฯ โดยไม่ชอบและทำสัญญาให้บริษัทฯ เข้าเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของบริษัท สตาร์มาร์ค (ประเทศไทย) จำกัด ตามคำพิพากษาเอกสารหมาย จร.4 และ จร.5 จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจซึ่งเป็นผู้บริหารของบริษัทฯ ไม่ได้ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องการเงินและบัญชีของบริษัทฯ
เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การนำบริษัทฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เห็นได้จากงบการเงินของบริษัทฯ ในปี 2557 ถึงปี 2558 ตามเอกสารหมาย จ.17 และ จ.18 ไม่ได้จัดให้มีการรับรองไว้โดยผู้ตรวจสอบบัญชีผู้ได้รับอนุญาตและขึ้นทะเบียนเป็นผู้ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เพื่อให้เข้าตามหลักเกณฑ์การนำบริษัทฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นางสาวภัสราพรฯ และ นายบวรสิทธิ์ฯ ไม่ได้เป็นผู้สอบบัญชีที่ได้รับการรับรองและขึ้นทะเบียนไว้กับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) การนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีหลักเกณฑ์ตามเอกสารหมาย จ.8 กำหนดให้
(ต…