นักวิทยาศาสตร์จีนออกมาย้ำ โปรเจคการตัดยอดเขากว่า 700 แห่งของทางการจีน เพื่อเพิ่มพื้นที่ราบ
สร้างเมืองใหม่ ต้องพิจารณาให้รอบคอบอีกหลายด้าน
นักวิชาการจีน ตีพิมพ์ผลงานในวารสารวิชาการ “เนเจอร์” (Nature) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ชี้ โครงการ
ตัดยอดเขามากกว่า 700 แห่ง และเกลี่ยเซาะซากหิน ดินทราย ทั้งหมดลงถมในหุบเขา เพื่อเพิ่มพื้นที่
ราบให้เมืองหลันโจว อีกประมาณ 250 ตารางกิโลเมตร ยังต้องพิจารณาปัจจัยความพร้อมอีกหลายด้าน
ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เรื่องทางเทคนิค และปัจจัยด้านเศรษฐกิจ
หลี่ เพ่ยเย่ว์, เฉียน ฮุ่ย, อู๋ เจี้ยนหวา จากวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและวิศวกรรม
มหาวิทยาลัยฉางอัน ระบุ “การเพิ่มพื้นที่ในลักษณะนั้น ยังขาดแคลนการศึกษาทำแบบจำลองเรื่องต้นทุน
และประโยชน์ที่ได้จากพื้นที่ที่เพิ่มขึ้น ปัญหาจากการขาดแคลนความเชี่ยวชาญและขาดเทคนิคหลายอย่าง
ทำให้โครงการล่าช้าและเพิ่มต้นทุนให้สูงขึ้น ในขณะที่โครงการก็ยังไม่ได้ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
อย่างรอบคอบ”
ในทางกลับกัน เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นคาดว่า โครงการดังกล่าวจะสร้างเม็ดเงินได้หลายพันล้านหยวน
จากการขายหรือให้เช่าที่ดินใหม่ที่สร้างขึ้น รวมทั้งสามารถช่วยเก็บรักษาที่ดินทางเกษตรกรรม
ในส่วนอื่นของประเทศได้เพราะมิฉะนั้น ที่ดินเหล่านั้นก็จะถูกใช้เพื่อการพัฒนา
นอกจากนี้ ยังคาดหวังกันด้วยว่า โครงการนี้จะช่วยเพิ่มจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ)
ของภูมิภาคให้สูงถึง 4.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ (หรือราวๆ 129,000 ล้านบาท) ภายในปี 2573
ในขณะที่ จากการศึกษาผลกระทบพบว่า การกัดเซาะหน้าดินเพิ่มปริมาณตะกอนในแหล่งน้ำของท้องถิ่น
ยกตัวอย่างเช่น ใน สือเยี่ยน มณฑลหูเป่ย การตัดเนินเขาลูกเล็กๆ ลงเติมพื้นที่ในหุบเขา ทำให้เกิดปัญหา
ดินถล่ม น้ำท่วม และปรับเปลี่ยนเส้นทางน้ำ สิ่งเหล่านี้กระทบกับเมืองเป็นอย่างมาก เพราะตั้งอยู่ใกล้
ต้นน้ำของ โครงการผันน้ำจากตอนใต้สู่ตอนเหนือ (South-North Water Transfer project)
อันเป็นความพยายามของรัฐบาลจีนในการผันน้ำเข้าคลองสู่ปักกิ่ง
อย่างไรก็ตาม ในตอนนี้ ก็มีการระงับโครงการบุกเบิกเขตพัฒนาใหม่ (Lanzhou New Area )
ในหลันโจว มณฑลกันซู่ ไว้ชั่วคราวแล้ว เพราะเกิดมลพิษทางอากาศจากการขุดเจาะ สอดคล้อง
กับคำเตือนของนักวิชาการที่ออกมาระบุก่อนหน้านี้ว่า หลานโจวเป็นหนึ่งในเมืองที่มีมลพิษมาก
ที่สุดของจีน และขาดแคลนทรัพยากรน้ำ ซึ่งการเพิ่มพื้นที่ของเมืองนี้จะยิ่งทำให้เกิดการขาด
แคลนทรัพยากรเพิ่มขึ้น
สุดท้าย แม้ว่าการตัดยอดเขาในลักษณะนี้ จะเคยเกิดขึ้นมาแล้ว อาทิ เมื่อเดือนเม.ย. 2555
ในเหยียนอัน มณฑลส่านซี โดยสามารถสร้างพื้นที่เพิ่มถึง 78.5 ตารางกิโลเมตร เพิ่มขนาดเมือง
ให้เป็นสองเท่า และ นอกจากนี้ ในสหรัฐอเมริกา ก็เคยมีการตัดเขาในเขตเหมืองแร่ทางตะวันออก
ของประเทศ แต่ก็ยังไม่เคยมีที่ใดในโลก ที่ดำเนินโครงการขนาดใหญ่เท่าที่จีนทำอยู่ตอนนี้
ดังนั้นจีนจึงจะเป็นต้องศึกษาเรื่องดังกล่าวอย่างรัดกุมในทุกด้าน
“หากไม่ก่อประโยชน์ รัฐบาลก็ไม่ควรเดินหน้าต่อไป” นักวิชาการทั้งสามคน เรียกร้อง